ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต และ อ. ช่วง มูลพินิจ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “The Blue Man” ผลงานภาพถ่ายของ คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วานนี้ (7 ม.ค.) โดยมีศิลปิน บุคคลสำคัญในวงการศิลปะ และผู้สะสมงานศิลปะร่วมเป็นเกียรติ อาทิ “ครูโต” ม.ล. จิราธร จิรประวัติ, “ครูปาน” คุณสมนึก คลังนอก, คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, คุณฉัตรชัย บุญรัตน์ ประธานกรรมการ บมจ. มาลี สามพราน ฯลฯ จัดแสดงถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศกนี้
“The Blue Man” เป็นนิทรรศการเดี่ยว ครั้งที่ 4 ของ คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ผู้มีชื่อเสียงในวงการศิลปะทั้งในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน และนักสะสมผลงานศิลปะระดับแนวหน้า ทั้งยังมีความเป็นเลิศด้านการถ่ายภาพซึ่งเป็นงานที่รักที่สุด โดยเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ผลงานมัลติมีเดียของเมืองไทยมานานถึง 30 ปี
ภาพถ่ายกว่า 50 ชิ้น ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “The Blue Man” ครั้งนี้ ใช้โทนสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีที่ศิลปินโปรดปรานเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษด้วยการริเริ่มใช้ เทคนิคการสะท้อนของกระจก (Reflective Glass) ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างภาพทับซ้อนโดยไม่ใช้กระบวนการตกแต่งรูปทางกราฟฟิกในภายหลัง ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ที่สามารถนำเสนอภาพซ้อนจากวัตถุสามมิติแสดงอยู่ตรงหน้าในขณะถ่ายทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ แบ่งเป็น 3 ซีรี่ส์ ได้แก่ 1) Body นำเสนอภาพธรรมชาติที่สวยงามที่สุดจากศิลปะแห่งรูปทรงอันบริสุทธิ์บนร่างกายของมนุษย์ 2) Mergence สื่อถึงการหลอมรวม หรือการอยู่ในกันและกันระหว่างหญิงกับชายที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และ 3) Soul สะท้อนถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการจะเป็นยิ่งกว่ามนุษย์อย่างธรรมดาสามัญ โดยนำยันต์และรอยสักซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาเป็นส่วนประกอบ โดยใช้แบบของ อ. หนู กันภัย และอีกหลายท่าน นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะจัดแสดง (Installation Art) ที่ใช้เทคนิคสื่อผสมฉายลงบนประติมากรรมด้วย
คุณเสริมคุณ ให้รายละเอียดว่า “ได้แรงบันดาลใจจากประติมากรรมของศิลปินชาวฝรั่งเศส Yves Klein ผสมผสานกับความชอบในแนวศิลปะแบบคิวบิสม์ (Cubism) นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ ซึ่งใช้เวลาในการคิด ทดลอง และเตรียมงานนานราว 1 ปี โดยการริเริ่มใช้รีเฟลคทีฟ
เทคนิคนี้ แม้จะยุ่งยากในการทำงานมากกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง และนับว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารแนวคิดเรื่อง ‘การหลอมรวม’ ด้วยภาพทับซ้อนจากการใช้ Mechanic Effect ไม่ใช่ Digital Effect เป็นการถ่ายภาพแบบ One Shot Shooting ที่ไม่ใช้กระบวนการ Post Production ด้วยเทคนิคพิเศษใดๆ แต่สามารถทับซ้อนและผสมผสานส่วนประกอบของทั้ง 2 คนที่เป็นแบบ ให้สื่อถึงความหลอมรวมในทิศทางต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ
โดยทั่วไป หากจะถ่ายภาพเพื่อนำเสนอด้านต่างๆ ของวัตถุ 2 ชิ้น หรือคน 2 คน บนระนาบ 2 มิติในภาพเดียวกัน จะต้องถ่ายหลายครั้งแล้วนำมาตกแต่งในกระบวนการ Post Production หรือใช้ PhotoShop ช่วย แต่ผลงานชุดนี้ต้องการให้เป็นแบบถ่ายครั้งเดียว จึงคิดหาวิธีการที่จะทำให้เป็นไปได้ จึงใช้การสะท้อนของกระจก ประกอบกับการจัดแสงให้ลงตัว”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ก็จริงอยู่ แต่สิบตาเห็นก็มิอาจสัมผัสความเป็นจริงของมนุษย์ได้ เพราะความเป็นมนุษย์สถิตท่ามกลางตัวตน สีสัน แสงเงา และภาพสะท้อน ที่ผันแปรไปตลอดเวลา มนุษย์มุ่งหน้าไปสู่ความจริงที่ตนอยากเป็นในท่ามกลางที่ไม่เสถียรนั้นเสมอ มันว่างเปล่า จงปล่อยวาง ดูเป็น เห็นจริง อิงปัญญา”
ด้าน อ. ช่วง มูลพินิจ ศิลปินอาวุโสชั้นแนวหน้า ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ว่า “ภาพขาว-ดำ คือจินตนาการของแสงและเงา คุณเสริมคุณทำงานด้านนี้ได้ดีเป็นพิเศษ”
นิทรรศการภาพถ่ายชุด “The Blue Man” จัดแสดงที่ชั้น 4 ห้องสตูดิโอ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ทุกวันอังคาร–วันอาทิตย์ เวลา 10.00–21.00 น. (หยุดวันจันทร์) จากนั้นจะจัดแสดงที่ Bad Motel สุขุมวิท ในเดือนกุมภาพันธ์ และที่ Brown Sugar ถนนพระสุเมรุ ในเดือนมีนาคม พร้อมทั้งจัดทำหนังสือ The Blue Man รวบรวมผลงาน กระบวนการคิด วิธีการ และเบื้องหลังการถ่ายภาพในคอลเลคชั่นนี้ จำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป