จำได้ไหมว่าเราเคยเห็นเงาครั้งแรกในชีวิตเมื่อไหร่ หลายคนคงจำไม่ได้ แต่ในศิลปะว่าด้วยเรื่องของเงานั้น เชื่อกันว่าเงาเป็นภาษาหนึ่งของมนุษย์ เหมือนเวลาหลับตานั่งอยู่ในห้องมืด แต่รับรู้ได้ว่าในห้องมืดนั้นมีไฟเปิดหรือปิดอยู่ ในสมัยโบราณก็มีการวาดรูปเป็นเรื่องราวไว้ตามผนังถ้ำ ใช้ภาวะความเป็นขาวดำมาวาดเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะมีเงาเสมอไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน….
..แต่ทว่าด้วยมนต์เสน่ห์แห่งเงานอกจากเอาชนะใจเด็กๆ แล้ว ที่บ้านคลองกระอาน ม.14 ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งที่หลงใหลในเงาได้หยิบเอา “หุ่นเงา” ที่เธอเคยหลงรักนั้นมาเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เห็นถึงความพิเศษของมันเฉกเช่นเดียวกันกับที่เธอหลงไหล ผ่านโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยสายใยสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน ปี 2 จังหวัดพัทลุง
ป้าป้อม หรือนางเตือนใจ สิทธิบุรี ผู้หญิงเจ้าของไอเดียการนำหุ่นเงามาสะท้อนชีวิตชุมชน และผู้รับผิดชอบโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยสายใยสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชน ปี 2 จังหวัดพัทลุง ที่สนับสนุนโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เล่าว่า “หุ่นเงา” มีลักษณะเป็นหุ่นแบนๆ เจาะลายฉลุ มีไม้เสียบกลางตัว และมีไม้โยงจากอวัยวะส่วนที่ต้องการ เพื่อให้ดึงให้เคลื่อนไหวคล้ายหนังตะลุง หรือหนังใหญ่การเชิดจะใช้แสงส่องผ่านตัวหุ่นให้เงาของหุ่นปรากฏบนจอผ้าขาวที่ขึงไว้ คนดูจะไม่เห็นตัวหุ่น แต่จะเห็นเฉพาะเงาของหุ่นเท่านั้น …หุ่นเงาอาจทำมาจากหนัง กระดาษแข็ง กระจกใส หรือพลาสติกก็ได้ ถ้าต้องการให้มีสี จะทาสีต่างๆ ลงไป เมื่อส่องไฟผ่านจะเห็นเป็นสีสันปรากฏที่จอ ซึ่งวัสดุอุกรณ์ที่นำมาใช้ประกอบไปด้วย ฉากหรือผ้าฉาก กระดาษโปร่งแสง ไฟฉาย ไฟหลากหลายสีที่ทำให้เกิดเงาในหลากหลายมิติ เมื่อเงามีเสน่ห์ขนาดนี้ ในปี 2556 จึงได้นำ “หุ่นเงามาทำงานในพื้นที่ตำบลนาปะขอ เพราะความมุ่งมั่นว่าอยากจะใช้หุ่นเงาเป็นตัวเชื่อมเด็กๆ ที่อยู่ในตำบลนาปะขอ และตำบลนาท่อม มาทำงานสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเองร่วมกัน แต่การที่จะทำให้เด็กๆ ผู้ที่มีสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่งจดจ่อและทำอะไรบางอย่างนั้นนานๆ นั้น คงเป็นเรื่องยากมาก แต่การเอาศาสตร์และศิลป์ ที่เป็น “หุ่นเงา” มาช่วยเสริมให้เด็กได้เล่นไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้า ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แสดงออก ได้ทดลองคิด-ทำ และร่วมสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนจากผู้สูงอายุ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนเฒ่าคนแก่กับเยาวชนไปในตัว ปัจจุบันนี้ “หุ่นเงา” ได้ถือเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ถูกเด็กๆ สร้างสรรค์ให้อยู่คู่กับชุมชนตนเองไปแล้ว
และเพื่อเป็นการเสริมความรู้ให้กับเด็กๆ ป้าป้อมจึงได้ชวน “กลุ่มมานีมานะ”กลุ่มนักทำกิจกรรมที่ใช้กระบวนการละครเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ด้วยหลักสูตรหุ่นเงาให้กับเด็กๆ ได้เข้ามาทำความรู้จักกับโลกแห่งเงา ด้วยการจินตนาการตัวเองให้กลายร่างเป็นรูปเงาของสัตว์ชนิดต่างๆ บนฉากสีขาว หรือการจับเงาของแต่ละคนประทับลงบนกระดาษ อย่างอิสระพร้อมเติมสีสันลงไปจนกลายเป็นภาพที่สวยงาม ก่อนเข้าสู่กระบวนการคิดเรื่องและการสร้างหุ่นเงาขึ้นมา หุ่นเงาที่สร้างสรรค์โดยเด็กๆ เริ่มออกแสดงเรื่องแรกในชื่อตอนว่า “บ้านคลองกระอาน” เป็นเรื่องราวของเต่าที่เคยมีอยู่จำนวนมาก ณ บ้านคลองกระอาน ตำบลนาปะขอ จังหวัดพัทลุง ในเนื้อเรื่องชาวบ้านได้พูดคุยกันว่าจะจัดการอย่างไรกับเต่า ฝ่ายพ่อค้าบอกว่าจะนำเต่าไปขายชาวบ้านก็อนุญาต ฝ่ายชาวบ้านเองก็นำไข่เต่าไปกิน เมื่อเวลาผ่านไปเต่ายิ่งจะสูญพันธุ์ ครอบครัวเต่าจึงออกมาประท้วงว่า จับเราทำไม? ท่านจะบอกลูกหลานอย่างไรว่าไม่มีเต่า? ชาวบ้านจึงคิดได้ว่าเราต้องอนุรักษ์เต่าแล้วล่ะ แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟู…
“ส่วนที่ตำบลนาท่อม แสดงเรื่องแรก คือ เรื่อง “คืนข้ามปีที่นาท่อม” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของนาท่อม เป็นการอวยพรในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ คืนวันที่ 31 ธันวาคม ก่อนที่จะเข้าสู่ปีใหม่ ที่จะมีคณะกลองยาวของตำบลนาท่อม ออกอวยพรปีใหม่ให้แก่ชาวบ้านในชุมชน นำเพลงที่เป็นเอกลักษณ์มาอวยพร ขณะที่เจ้าของบ้านจะรอต้อนรับอยู่ที่บ้านของตนเอง เพื่อจะรอรับขบวนกลองยาว เมื่อขบวนกลองยาวไปถึงจะมีเพลงอวยพร คำอวยพรต่างๆ เช่น “พิณโย พิณโย พิณโย” แปลว่า ขอให้มีความสุข อุดมสมบูรณ์ โชคดีตลอดปีใหม่ (เป็นคำที่ได้จากการตีกลองยาว) เป็นวัฒนธรรมที่นาท่อมได้ยึดถือทำกันมาตลอดเกือบ 100 ปี และยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้…” ป้าป้อมเล่า
สำหรับ “น้องนิว” นาวสาวสุนิษา เนียมสกุล อายุ 17 ปี หนึ่งในผลผลิตจากโครงการหุ่นเงาสภาเด็กและเยาวชน ตำบลนาท่อม และผู้เชิดหุ่นเงาเรื่อง “คืนข้ามปีที่นาท่อม” บอกว่า ได้รู้จักหุ่นกับเงาครั้งแรกเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ในการเข้าร่วมโครงการกับป้าป้อม แต่หุ่นเงาในอุดมคติที่คิดไว้ คือ การใช้เงาของมือในการแสดง เกิดเป็นรูปหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น กระต่าย สุนัข เป็นต้น แต่เมื่อพี่ๆ “กลุ่มมานีมานะ” เข้ามาฝึกสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับหุ่นเงา ทำให้ความคิดที่มีต่อ “เงา” ในอุดมคติเดิมเปลี่ยนไป สำหรับเรื่องของการเรียนรู้การแสดง พี่ๆ ได้แนะนำในทุกๆ ขึ้นตอนเริ่มจากการวางโครงเรื่อง การวิเคราะห์ถึงตัวละครในเรื่อง รวมถึงบทละครที่สอดแทรกศิลปวัฒนธรรมและของดีต่างๆ ที่มีมาด้วยทำให้เด็กๆ อย่างเราๆ สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ง่ายขึ้น ที่สำคัญเมื่อนำไปแสดงมีคนสนใจ รอยยิ้มเกิดขึ้น ยิ่งเกิดความภาคภูมิใจและหลงรักในหุ่นเงามากขึ้น…
ด้าน “น้องบ่าว” ด.ช.นราวิชญ์ ผุดพัฒน์ อายุ 11 ปี ผลผลิตจากโครงการหุ่นเงาสภาเด็กและเยาวชน ตำบลนาท่อม ผู้พากย์หุ่นเงา เรื่อง “คืนข้ามปีที่นาท่อม” บอกว่าดีใจที่มีโอกาสออกแสดงหุ่นเงาตามสถานที่ต่างๆ ตื่นเต้นทุกครั้งที่ออกแสดง สำหรับเทคนิคในการพากย์เสียงพี่ๆ แนะนำมาว่า ต้องใช้อารมณ์ร่วมเหมือนเป็นนักแสดง แต่ใช้เงาเป็นตัวหลักในการสื่อความหมาย และสิ่งสำคัญที่นักพากย์จะต้องเรียนรู้ คือ การรอฉากหรือสถานการณ์ หากพากย์ไปก่อนแต่ฉากยังมาไม่ถึงจะทำให้ผิดคิวได้ ส่วนความพิเศษของการพากย์หุ่นเงาของที่นี่นั้นคือ การใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาใต้) นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่น่าสนใจมากๆ …หลังจากการแสดงจบ เมื่อได้ยินเสียงปรบมือจากคนดูก็รู้สึกชื่นใจ รู้สึกว่าเราสามารถที่จะทำออกมาได้ดี และเต็มกับสิ่งที่ทำ และทำให้รักหุ่นเงามากขึ้น อย่างที่ป้าป้อมรัก
ทั้งหมดนี้เป็น “หุ่นเงา” ที่เกิดขึ้นที่นี่ แม้เงาในหลายๆ ที่จะเป็นสีดำ ลองปรับนำเทคนิคของที่นี่ไปใช้ดูไม่แน่บางที่เงาในอุดมคติที่หลายๆ คนเคยรู้จักจะเปลี่ยนไปและหลงรักในสีสันของเงาเฉกเช่นเดียวกับหลายๆ คนที่นี่เป็นแน่ ป้าป้อมบอกว่า “ลองนำไปปรับใช้ดู แล้วคุณจะหลงรักเงาเหมือนป้าป้อม” แน่ๆ