A Million Ways to Die in the West 10 กรกฏาคม นี้ในโรงภาพยนตร์

AMW1เซธ แม็คฟาร์เลน (Ted, ผลงานทางทีวีเรื่อง Family Guy) ขอยืดขยายความฮาจนทะลุขีดขำกลิ้ง โดยรับหน้าที่เป็นทั้งมือเขียนบท, ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับ และแสดงนำ ในภาพยนตร์ตลก A Million Ways to Die in the West งานนี้ แม็คฟาร์เลนขอเป็นทั้งผู้เล่าเรื่องและรับบทนำในเรื่องราวของ อัลเบิร์ต สตาร์ก หนุ่มอ่อนหัดผู้พยายามคิดหาทางหนีให้พ้นจากดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน เขาก็มีสิทธิ์ตายได้ทุกเมื่อ ทุกคนในเมืองเหมือนพยายามจะฆ่าเขา อัลเบิร์ตที่เป็นชาวไร่เลี้ยงแกะ  และโดน ลูอิส แฟนสาวอารมณ์แปรปรวนของเขา (อาแมนด้า ไซย์เฟร็ด จาก Les Misérables, Mamma Mia!) ทิ้งไปหลังจากเขาหนีการดวลปืน รู้สึกเหมือนคนโง่

ที่เข้ามาเพิ่มความระทมทุกข์และความรู้สึกไร้ความสามารถให้กับอัลเบิร์ตมากขึ้น ก็คือ การที่ลูอิสไปคบหากับ ฟอย (นีล แพทริค แฮร์ริส จากผลงานทางทีวีเรื่อง How I Met Your Mother, ละครบรอดเวย์ เรื่อง  Hedwig and the Angry Inch) นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเมืองนี้ ขณะที่อัลเบิร์ตไม่สามารถให้ทั้งความมั่นคงทางการเงินและใบหน้าเข้มๆ แต่ฟอยกลับมีทุกอย่างเหลือเฟือ

แต่เมื่อมือปืนสาวสวยแสนลึกลับที่ชื่อ แอนนา (ชาร์ลิซ เธอรอน จาก Snow White and the Huntsman, Prometheus) ขี่ม้าเข้ามาในเมือง เธอช่วยให้อัลเบิร์ตเริ่มต้นค้นหาความกล้าหาญของเขา และพวกเขาเริ่มรักกันอย่างคาดไม่ถึง

แต่ในดินแดนตะวันตกที่ไม่เคยปรานีผู้ใด ไม่มีอะไรที่จะได้มาโดยง่าย ปัญหายังตามมาราวีเพิ่ม เมื่อ คลินช์ ลีเธอร์วู้ด (เลียม นีสัน จาก Non-Stop,  ภาพยนตร์ชุด Taken) สามีของแอนนา ที่เป็นพวกนอกกฎหมายชื่อกระฉ่อน ที่ใครได้ยินชื่อเป็นต้องกลัวจนแทบฉี่ราด เดินทางมาถึงเมืองนี้เพื่อตามล้างแค้นชายที่เขาคิดว่าทำให้แอนนาไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา อัลเบิร์ตจึงต้องทดสอบความกล้าที่เพิ่งค้นเจอในตัวเอง เพื่อดวลปืนแบบตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เขาได้ครอบครองทั้งหัวใจแอนนาและได้รับการยอมรับนับถือในแดนตะวันตก หรือไม่งั้นก็คงลงเอยด้วยการนอนในหลุมศพที่ไร้ป้ายและถูกลืมเลือน

ที่เข้ามาร่วมผจญภัยสุดเพี้ยนกับอัลเบิร์ตก็คือเพื่อนซี้ของเขา เอ๊ดเวิร์ด (จิโอวานนี่ ริบิซี่ จาก Ted, Avatar) ช่างซ่อมรองเท้าแสนซื่อประจำเมือง และรูธ (ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน จาก Wreck-It Ralph, ผลงานทางทีวีเรื่อง The League) แฟนสาวของเอ๊ดเวิร์ด ที่ใสซื่อพอๆ กับเขา ขณะที่เธอให้บริการกับลูกค้าในซ่อง

แม็คฟาร์เลนกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้จากบทภาพยนตร์ที่เขาเขียนร่วมกับ อเล็ค ซัลกิ้น และเวลเลสลี่ย์ ไวลด์ (ผลงานทางทีวีเรื่อง Family Guy, Ted, และภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Ted 2) ที่เข้ามาร่วมสร้างความเฮฮา ซ่าส์เปรี้ยวใน A Million Ways to Die in the West ก็คือนักแสดงคนโปรดของ แม็คฟาร์เลน อย่าง ราล์ฟ การ์แมน (Ted, Family Guy) ในบท แดน หนึ่งในชาวเมืองโอลด์สตัมป์ที่มีสีสัน และอเล็กซ์ บอร์สตีน  (Ted, Family Guy) ในบท มิลลี่ นายหญิงแห่งซ่องที่ไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์อันใสซื่อระหว่างลูกน้องสาวที่เก่งที่สุดของเธอกับเอ๊ดเวิร์ด

คริสโตเฟอร์ ฮาเก้น (The Lone Ranger) และจีน เอฟฟรอน (50 to 1) มาร่วมจอในบทพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าของอัลเบิร์ต จอร์จ และเอลซี่ ผู้ซึ่งพยายามจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการถูกฆ่า อีแวน โจนส์ (8 Mile) รับบท ลูอิส สมาชิกผู้น่ารังเกียจในแก๊งของคลินช์

แม็คฟาร์เลนยังได้รวบรวมทีมงานหลังกล้องระดับแถวหน้าของวงการ นำทีมมาโดยผู้ร่วมงานขาประจำของเขา และทีมผู้อำนวยการสร้างซี้ปึ้กอย่าง สก็อตต์ สตูเบอร์  (Ted, Identity Thief) แห่งบริษัทบลูกลาส ฟิล์มส์ และเจสัน คล๊าร์ก (Ted, 42) ร่วมด้วยหัวหน้าทีมต่างๆ อย่าง ผู้กำกับภาพ ไมเคิล บาร์เร็ตต์ (You Don’t Mess with the Zohan, Ted), โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ สตีเฟ่น ไลน์วีเวอร์ (Ted, Role Models), ผู้ลำดับภาพ เจฟฟ์ ฟรีแมน (Paul Blart: Mall Cop, Ted), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ซินดี้ อีแวนส์ (Savages, August: Osage County) และผู้แต่งดนตรีประกอบ โจล แม็คนีลี่ย์ (Ghosts of the Abyss, Holes) อลัน แจ็คสัน ตำนานเพลงคันทรี่ เป็นผู้ร้องเพลงไตเติ้ลแทร็ค โดยเป็นเพลงที่แต่งโดยแม็คนีลี่ย์ และแม็คฟาร์เลน

นอกจากร่วมเขียนบทให้กับผลงานของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส และเอ็มอาร์ซี เรื่อง A Million Ways to Die in the West นี้แล้ว ซัลกิ้นและไวลด์ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารด้วย

เบื้องหลังงานสร้าง

สยบแดนคาวบอยA Million Waysเริ่มต้น

AMW3เมื่อตอนที่ เซธ แม็คฟาร์เลน และทีมเขียนบทของเขา อเล็ค ซัลกิน และเวลเลสลี่ย์ ไวลด์ อยู่ในช่วงท้ายของการทำงานกับภาพยนตร์ที่ต่อมากลายเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ เรื่อง Ted พวกเขาได้หยุดพักและนั่งดู คลิ้นต์ อีสต์วู้ด ในภาพยนตร์คาวบอยสุดคลาสสิกของ เท็ด โพสต์ เรื่อง Hang ’Em High แก๊งเพื่อนเก่าที่ทำงานด้วยกันกลุ่มนี้ เริ่มปล่อยมุขฮาใส่กัน และคุยกันถึงไอเดียในการสร้างหนังคาวบอยแหวกแนว ในไม่ช้า พวกเขาก็ตัดสินใจว่า การใส่มุขฮาเข้าไปหนังคาวบอย น่าจะเป็นงานชิ้นต่อไปที่พวกเขาจะทำงานด้วยกัน

แม็คฟาร์เลนเล่าว่า “เรากำลังพูดคุยกันว่ายุคนี้สมัยนี้ทำไมถึงได้หลงใหลในหนังและวรรณกรรมอเมริกันนัก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นช่วงเวลาและสถานที่ที่คงจะทั้งกดดันและอยู่ยากอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ได้แมนสุดๆ มันเริ่มต้นจากตรงนั้นแหละ”

พวกเขารู้สึกว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นในเวลานั้น แทบไม่มีข้อได้เปรียบเลย พวกเขาชื่นชอบไอเดียที่จะได้ทดสอบมันผ่านมุมมองยุคใหม่ แม็คฟาร์เลนเล่าว่า “หนึ่งในหลายๆ อย่างที่เรารู้สึกเกี่ยวกับหนังตลก โดยเฉพาะพวกหนังตลกไอเดียเริ่ดเลอทั้งหลาย ก็คือ คุณมีไอเดียสุดเพี้ยนแค่อย่างเดียวก็พอ จากนั้นก็ทำให้ทุกอย่างยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ในหนังเรื่องนี้ องค์ประกอบที่เป็นความคิดทีเด็ดก็คือ มันเกิดขึ้นในโลกคาวบอย ส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ต้องอิงอยู่กับความเป็นจริงร่วมสมัย”

ขณะที่ทางทีมผู้สร้างต้องการวางเรื่องราวนี้เอาไว้ในโลกคาวบอย พวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องหลอมรวมตัวละครเหล่านี้เข้ากับอารมณ์แบบยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะ อัลเบิร์ต สตาร์ก ตัวพระเอกของเรื่อง ไวลด์เล่าว่า นี่คือไอเดียของเซธตั้งแต่แรกเริ่มว่า จะจับชายที่ชอบทำอะไรตามขนบ ไปอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะกับเขาได้อย่างไร เป็นที่ซึ่งทุกอย่างน่ากลัวไปหมด อัลเบิร์ตไม่เหมาะกับมันเลย ชายคนนี้เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง และเขาก็แสดงให้เห็นว่าการอยู่ในยุคนี้และที่แห่งนี้มันเป็นฝันร้ายแค่ไหน”

ยิ่งทีมเขียนบทพูดคุยกันมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งมองเห็นว่าแนวคิดที่พวกเขาคิดขึ้น มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน ซัลกิ้นกล่าวเสริมว่า “เราทำให้ตัวละครของเซธมีความร่วมสมัยมากขึ้น ดังนั้นเขาจะเป็นคนที่พูดกับทุกคนว่า ‘เฮ้ ไงเกลอ’ ขณะที่คนอื่นๆ จะพูดว่า ‘สบายดีไหม!’ เราจินตนาการว่ามันคงจะน่าหงุดหงิดสำหรับเขาที่คนอื่นๆ ทุกคนมีความเป็นคาวบอยสูง และเขาก็เกลียดมันมาก”

สำหรับแม็คฟาร์เลน มันไม่ใช่แค่ความจริงที่ว่าฮีโร่ที่ไม่น่าเป็นฮีโร่ผู้นี้ใช้ชีวิตอยู่ในยุค 1880 ที่แห้งแล้ง แต่มันยังเป็นงานที่อัลเบิร์ตต้องแบกภาระไว้ด้วย จากการค้นคว้าของเขา แม็คฟาร์เลนพบว่าบ่อยครั้งที่คนเลี้ยงแกะถูกสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมด่าว่า เขาเล่าว่า “ทุกคนเกลียดคนทำฟาร์มแกะเพราะแกะจะเล็มจนเกือบถึงรากของต้นหญ้า ซึ่งเป็นการทำลายผืนดิน มันไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้เท่านั้น แต่ไอเดียที่ว่าคนเลี้ยงแกะเป็นพวกขี้ขลาดตาขาวของยุคคาวบอย เป็นเรื่องที่ดูเหมือนเป็นแง่มุมที่ดีและตลกที่จะช่วยแสดงให้เห็นว่าอัลเบิร์ตเป็นใคร และยังเป็นเหมือนตัวแทนของพวก ‘ทึ่ม’ ที่อยู่ในดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อนของอเมริกา”

ขณะที่แม็คฟาร์เลนทำหน้าที่หลายตำแหน่งมากในภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้ เขากลับพบว่าข้อเรียกร้องของการทำหลายหน้าที่ ทำให้โปรเจ็กต์นี้กลายเป็นงานที่สนุกที่สุด เขาอธิบายว่า “ไม่มีงานไหนหรอกที่น่าชื่นชมมากกว่างานอื่น เพราะทุกหน้าที่มันแตกต่างกัน งานเขียนบทก็สนุก งานกำกับก็สนุก การแสดงก็สนุก แต่ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเพราะผมต้องเผชิญกับเรื่องนี้กับตัว”

การรวบรวมทีมงานที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ช่วยสร้างความคุ้นเคย ผู้อำนวยการสร้าง สก็อตต์ สตูเบอร์ จากบลูกลาส ฟิล์มส์ อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของสามทหารเสือ และวิธีการแปลอารมณ์ขันของพวกเขาว่า “บ่อยครั้งที่ดินแดนคาวบอยที่เห็นกันในหนัง จะเป็นยุคสมัยที่ทุกคนทั้งกล้าหาญบึกบึน เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นยุคยากลำบากในแง่ที่ทุกอย่างสามารถฆ่าให้คุณตายได้ และคุณสามารถตายได้ง่ายแค่ไหน และตายตั้งแต่อายุยังน้อยขนาดไหน เซ็ธ, อเล็ค และเวลเลสลี่ย์พบอารมณ์ขันเสียดสีตรงนั้น และทำให้มันกลายเป็นงานที่ตลกที่สุด ที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นที่จะทำได้”น

สตูเบอร์รู้สึกพอใจกับตัวละครที่ตรงกันข้ามกับความเป็นฮีโร่ที่ทีมเขียนบททีมนี้เขียนขึ้นมา และชอบที่พวกเขาสร้างออกมาเป็นภาพยนตร์แนวนี้ เขายังอธิบายเกี่ยวกับอัลเบิร์ตว่า “เขาคือหนึ่งในคนที่น่าเวทนามากในโลกคาวบอย  อัลเบิร์ตไม่ใช่พวกโชว์แมน เขาไม่ใช่มือปืน เขาไม่ได้มองหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เขาเป็นพวกทึ่มๆ เชยๆ เขาเป็นผู้ชายที่อ่านหนังสือคล่อง และอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ได้เข้ากับลักษณะจากยุค 1880 สักเท่าไหร่ เขาแค่พยายามหาที่หาทางของตัวเองในดินแดนตะวันตก”

เจสัน คล๊าร์ก ผู้อำนวยการสร้างจาก Ted รู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับมาร่วมทีมกับแม็คฟาร์เลน, ซัลกิ้น, ไวลด์ และสตูเบอร์ ในภาพยนตร์คาวบอยในแบบที่ยังไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน เขากล่าวว่า สิ่งที่ผมชื่นชมในการทำงานกับเซธ, อเล็ค และเวลเลสลี่ย์ ก็คือ ทุกเรื่องที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยมุขตลกของพวกเขา มันอิงอยู่กับเรื่องที่พวกเราใส่ใจ ดังนั้น ในฐานะของคนดู จึงมีบางสิ่งที่โดนใจคุณ มีคนที่คุณคอยเอาใจช่วย สิ่งที่เซธมีอยู่เสมอ ก็คือความสามารถที่จะทำให้เกิดความประทับใจและความอบอุ่น แม้จะแสดงด้วยมุขตลกสุดห่ามของพวกเขาก็ตาม”

พวกนอกกฎหมายและชาวเมืองคัดเลือกตัวนักแสดง

AMW2ขณะที่ทีมเขียนบทคิดสร้างเรื่องราวนี้ขึ้นมา พวกเขาจินตนาการว่าอัลเบิร์ตรับบทแสดงโดยหนึ่งในพวกเขา ถึงแม้แม็คฟาร์เลนจะใช้เวลามากมายทำงานอยู่หลังกล้อง และคุ้นเคยดีในฐานะผู้ให้เสียงกับตัวละครแอนิเมชั่นตั้งแต่ ปีเตอร์ กริฟฟิน จนถึง เท็ด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขารับบทนำในฐานะนักแสดงจริงๆ และเขาตอบรับต่อความท้าทายใหม่นี้ สตูเบอร์ให้ความเห็นว่า “แทนที่จะทำสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ต่อไป เซธพูดว่า ‘ผมตั้งใจจะลองอะไรที่แตกต่าง ผมอยากสร้างหนังตลกในยุคคาวบอย และผมจะแสดงในเรื่องนี้ด้วย’ เขายังคงท้าทายตัวเองอย่างต่อเนื่อง และผมพบว่ามันสุดยอดมาก เขาต้องไม่กลัวเพื่อจะทำสิ่งเหล่านั้น เขามีความเข้าใจในโทนของเรื่อง และในข้อเรียกร้องว่าเขาเป็นใครในฐานะที่เป็นผู้ให้ความบันเทิง”

เมื่อได้แม็คฟาร์เลนมารับบทพระเอก ซึ่งถือเป็นบทบาทนำบทแรกของเขา ทางทีมงานจึงตั้งเป้าค้นหาดารานำฝ่ายหญิงในบท แอนนา ในเรื่องราวของเรา อัลเบิร์ตและแอนนาไม่ได้ตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ แต่พวกเขาผูกพันกันเพราะความเกลียดชังที่มีต่อโลกตะวันตก และการที่โลกคาวบอยสามารถฆ่าคุณได้หลากหลายวิธีมากมาย สองเปรี้ยวซ่าส์เกิดมีความผูกพันกันขณะที่แอนนาช่วยอัลเบิร์ตให้ค้นพบความแข็งแกร่งของเขา และอัลเบิร์ตก็ช่วยให้แอนนาค้นพบความอ่อนไหวในตัวเธอ

คล๊าร์กอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองคู่รักต่างขั้วว่า “หลังจากเขาถูกทิ้งไป อัลเบิร์ตพยายามคิดอยู่ว่าจะทำอะไรต่อไปเมื่อหญิงสาวลึกลับผู้นี้เดินทางเข้ามาในเมือง พวกเขาพบกันในสภาพแวดล้อมที่คาดไม่ถึง พวกเขาผูกพันกันเพราะความจริงที่ว่าพวกเขาต่างมีชีวิตที่ไม่มีความสุขในดินแดนตะวันตกที่เต็มไปด้วยอันตราย เขาเริ่มตั้งคำถามว่าเธอคือใคร และเธอมาจากไหน และไม่รู้ตัวว่าเขากำลังตกหลุมรักเธอ ในองก์ที่สามของเรื่อง อดีตของเธอตามมาทัน เราจะได้เห็นการปะทะกันระหว่างโลกของเขากับโลกของเธอที่มาเจอกันในเมืองเล็กๆ ของโอลด์สตัมป์”

สำหรับบทนำหญิง แม็คฟาร์เลนและทีมของเขา ชอบไอเดียที่เลือก ชาร์ลิซ เธอรอน มารับบท แอนนา นับแต่ที่ผู้กำกับแม็คฟาร์เลนได้พบกับเธอรอนครั้งแรก เขารู้ดีว่าเธอเหมาะกับบทนี้ที่สุด เขาบอกว่า “ผมรักมากเวลาที่นักแสดงเดินเข้ามาพร้อมกับมุมมองอันหนักแน่นว่าพวกเขาต้องการอะไร และมันได้ถูกแสดงออกมาให้เห็นบนจอ กับชาร์ลิซ นับแต่ครั้งแรกที่เราได้คุยกันเกี่ยวกับบทนี้ เธอเข้าใจเลยว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มันเหมือนเธอเชื่อมต่อตรงกับสมองของผม เธอมีภาพลักษณ์ที่ดูดีอยู่แล้ว และผมรู้ว่าเธอจะทำให้ตัวละครตัวนี้มีชีวิตขึ้นมาในแบบที่ทรงพลังมาก”

ขณะที่เธอรอนเป็นที่รู้จักและจดจำจากผลงานแนวดราม่า แต่นักแสดงสาวเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้นี้มักจะมองหาภาพยนตร์แนวใหม่ที่จะผลักดันตัวเธอในฐานะนักแสดง เธอกล่าวว่า “ฉันสนใจหนังตลกมาสักพักแล้ว แต่มันต้องมีลูกเล่นหน่อย เพราะคนดูรู้จักฉันดีในเรื่องของการทำอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างมาก อันที่จริง สิ่งที่ทำให้ฉันสนใจก็คือหนังตลกแปลกๆ ซึ่งเป็นงานที่หายาก การรวมตัวกันระหว่างบทภาพยนตร์เรื่องนี้กับการกำกับของเซธ เป็นเหมือนลูกสแลมดั้งสำหรับฉัน ฉันเริ่มขอร้องเขาทันที ฉันปิดบทภาพยนตร์และเริ่มขอร้อง”

เธอรอนอธิบายเหตุผลที่เธอรู้สึกผูกพันกับแอนนา “เธอเป็นตัวละครที่ฉันตกหลุมรักเร็วที่สุด เรามีลักษณะที่คล้ายกันหลายอย่าง ฉันรู้สึกราวกับว่าฉันเข้าใจเธอได้ตั้งแต่เริ่มแรก ถึงแม้เธอจะเกลียดดินแดนตะวันตก แต่เธอก็ไม่ได้เบื่อหน่ายหรือช่างถากถาง”

สำหรับเธอรอน การทำงานกับแม็คฟาร์เลนให้ความรู้สึกเหมือนได้สูดอากาศบริสุทธิ์ เธอกล่าวว่า “เซธทำให้มันดูประหลาด เพราะนั่นเป็นงานถนัดของเขา มันให้ความรู้สึกไม่เหมือนใคร ไม่รู้สึกว่ามันซ้ำซาก มีนักแสดงหลายคนที่พูดแบบนั้นกันอยู่ตลอดเวลา แต่ฉันรู้สึกจริงๆว่านี่เป็นงานที่โดดเด่นจริงๆ มีบางอย่างเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ที่ให้ความรู้สึกราวกับว่ามันย้อนกลับไปสู่ยุค ’70”

อันที่จริง ทั้งเธอรอนและแม็คฟาร์เลนต่างต้องก้าวออกจากโซนปลอดภัยของพวกเขา ในทีแรก พวกเขาต่างรู้สึกเป็นกังวลที่ต้องร่วมงานกัน คล๊าร์กอธิบายว่า “ชาร์ลิซมาร่วมทดลองอ่านบทกับเรา เซธเป็นกังวลเพราะชาร์ลิธเป็นนักแสดงหญิงรางวัลออสการ์ เธอเดินเข้ามา และรู้สึกเป็นกังวลที่จะทำงานกับเขาเพราะหนังตลกเป็นงานที่เธอไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก แต่นั่นกลับนำการแสดงที่เข้าขากันอย่างมากมาสู่ความสัมพันธ์นี้”

สตูเบอร์รู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นพวกเขาพูดคุยกันว่า เธอรอนเข้าถึงบทนี้ได้เป๊ะมาก เขากล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าชาร์ลิซทั้งสวยและเป็นนักแสดงที่มีความสามารถอย่างมาก เป็นคนที่ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วจากบทดราม่า ดังนั้น เมื่อเราได้ยินเธอว่าเธออยากจะลองเล่นหนังตลกดู เราก็รีบกระโดดใส่โอกาสที่จะเลือกตัวเธอมาแสดงในทันที โชคดีสำหรับเรา เธอเล่นหนังตลก ถ้าไม่ดีกว่า ก็เล่นได้ดีพอๆ กับเล่นบทดราม่าเลย รับรองว่าหลายคนจะต้องอึ้งเพราะการแสดงของเธอ”

ในการรวบรวมนักแสดงสำคัญในบทอื่นๆ แม็คฟาร์เลนรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะไม่เลือกนักแสดงตลกเพื่อมารับบทตลกในภาพยนตร์ตลก เขาอธิบายว่า “ยิ่งผมทำงานแบบนี้มากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งพบว่าถ้าคุณทำงานเป็นมือเขียนบทหนังแนวตลก ถ้ามุขตลกมันมีอยู่แล้ว คุณต้องการตัวนักแสดงที่ตรงกันข้ามกับนักแสดงตลก เรื่องนี้ต้องมีความสมจริง คุณต้องแคร์ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น เพราะโดยหัวใจแล้ว มันคือเรื่องดราม่าที่มีมุขตลกเป็นตันๆ เท่านั้นเอง”

เมื่อเธอรอนเซ็นสัญญาเพื่อรับบท แอนนา ทีมงานจึงเดินหน้าหาตัว ลูอิส ผู้หญิงที่ทำให้อัลเบิร์ตหัวใจสลายในตอนต้นเรื่อง พวกเขาอยากหาตัวนักแสดงหญิงที่สามารถแสดงสมดุลระหว่างการเป็นผู้หญิงที่คุณไม่อยากให้ผู้ชายคนนี้ลงเอยด้วย เพราะเธอไม่ใช่คนนิสัยดีที่สุด แต่เป็นตัวละครที่มีคุณสมบัติที่พอจะให้อภัยได้มากพอ จนคุณไม่คิดว่าผู้ชายคนนี้คือคนโง่ที่ไปหลงรักเธอ เป็นคนที่ “แค่คนที่ใช่”

แม็คฟาร์เลนพบทุกสิ่งทุกอย่างที่ทีมของเขาต้องการ ในตัวนักแสดงหญิงที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่าง อาแมนด้า ไซย์เฟร็ด เขาอธิบายว่า “อาแมนด้าคือตัวอย่างที่ดีของคนที่เลือกมาแสดงกับบทที่สมบูรณ์แบบที่สุด มีอยู่ฉากหนึ่งที่เธอคุยกับอัลเบิร์ต และกำลังจะทิ้งเขา ผมจำได้ว่าผมคิดว่า ‘พระเจ้า เธอแสดงเข้าถึงมาก เธอคือนักแสดงที่เก่งที่สุดในโลก หรือเธอฆ่าผู้ชายด้วยวิธีแบบนี้กันแน่’ อาแมนด้าเป็นคนน่ารักมาก ผมจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะอย่างหลัง เธอแค่เก่งมากเท่านั้น”

เช่นเดียวกับเธอรอน ในทีแรก ไซย์เฟร็ดก็รู้สึกแปลกใจที่เธอได้รับเลือก เธอบอกว่า “งานส่วนใหญ่ของฉันไม่ใช่หนังตลก” ไซย์เฟร็ดพูดถึงตัวละครของเธอว่า “ลูอิสเป็นหญิงสาวที่เห็นแก่ตัว เธอทิ้งอัลเบิร์ตอย่างไร้ความรู้สึก เธอหลงใหลฟอย เธอคิดว่าเขาสุดยอดจนมองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนยังไง ฟอยมีความสามารถ เขามีสมอง ขณะที่อัลเบิร์ตไม่ได้มีความเฉลียวเลย ฟอยดูมีเสน่ห์สำหรับเธอ เพราะเขามีความเชื่อมั่น และมีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้าม และหนวดของเขาก็ดูเร้าใจจริงๆ”

ถึงแม้ตัวละครของเธอรอนและของไซย์เฟร็ดจะแตกต่างกัน แต่นั่นคือจุดที่ความคล้ายกันระหว่างสองนักแสดงหญิงสิ้นสุดลง เธอรอนอธิบายว่าเธอลำบากทีเดียวกับบทพูดประชดประชันที่เธอต้องพูดกับคู่ปรับบนจอของเธอ “ฉันพบว่าฉันหันไปมองหน้าเซธ และพูดว่า ‘ฉันพูดแบบนั้นไม่ได้หรอก นั่นอาแมนด้านะ ไม่เอาน่า’ มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ฉันต้องบอกเธอว่า เธอดูแย่มากในชุดนี้  ฉันคิดว่าฉันคงไม่เก่งนักกับการเป็นนักแสดง แบบว่า …ก็ลองดูเธอซิ เธอน่ารักอย่างกับตุ๊กตาตัวน้อยๆ เลยทีเดียว”

งานนี้ทีมงานต้องคิดหนักกับการเลือกนักแสดงชายที่จะมารับบทเป็น ฟอย หนุ่มหนวดบิดที่เป็นขวัญใจสาวๆ สำหรับแม็คฟาร์เลน ฟอยคือตัวละครที่เลือกนักแสดงได้ยากที่สุด เพราะเขาต้องสูง และดูใหญ่คับโลก คนดูต้องเชื่อว่าเขาคือภัยคุกคามต่ออัลเบิร์ต ขณะที่จะต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง หลังจากคิดกลั่นกรอง แม็คฟาร์เลนและทีมของเขา ก็นึกถึง นีล แพทริค แฮร์ริส

แม็คฟาร์เลนอธิบายว่า “อย่างที่คุณทราบ นีลแสดงได้ ร้องเพลงได้ และเต้นได้ เขาทำทุกอย่างนี้ได้อย่างงดงาม แต่มีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวละครของเขานั่งอึใส่หมวก มันเป็นตลกร้ายมาก แต่คุณเห็นนีล และเขาจัดการแสดงฉากนี้ และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นงานแสดงในแบบที่คุณเห็นได้ในหนังเงียบคลาสสิก ด้วยรูปร่างหน้าตา และความนุ่มนวลที่เขาใส่ลงในตัวละครตัวนี้ ผมเริ่มเห็นเลยว่าเขามีความสามารถมากมายมหาศาลแค่ไหน และเขาน่าเกรงขามแค่ไหนในฐานะนักแสดง”

แฮร์ริสเป็นคนแรกที่ยอมรับว่าการได้เขามาร่วมงานด้วยนั้นเป็นส่วนที่ง่ายมาก แฮร์ริสเล่าว่า “ผมเพิ่งได้พบเซธแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้นก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ เราสองคนจาก How I Met Your Mother เคยให้เสียงพากย์ตอนหนึ่งของ Family Guy ซึ่งเราถูกล้อเลียนอย่างเปิดเผย จากนั้น หนังเรื่องนี้ก็เข้ามา มันตรงกับช่วงว่างของผมระหว่างซีซั่นของซีรีส์เรื่องนั้นพอดี ผมได้รับโทรศัพท์จาก เซธ แม็คฟาร์เลน ที่พูดด้วยเสียงของเขาเอง ซึ่งหาได้ยากมาก มันเหมือนกับ เวนดี้ วิลเลี่ยมส์ ที่ไม่ได้ใส่วิก เขาพูดว่าไม่มีใครเล่นบทนี้ได้แล้ว ผมเป็นคนเดียวที่จะเล่นบทนี้ได้ เราก็เลยได้ร่วมงานกันอย่างที่เห็น”

AMW5         แฮร์ริสพูดถึงความเป็นมาของฟอย คู่ปรับของอัลเบิร์ต “ฟอยคือคนที่รวยที่สุดในเมืองนี้ ไม่ต้องสงสัยเลย และเขาก็อยากจะอวดรวย เขาแต่งตัวดีกว่าคนอื่น เขาภูมิใจกับหนวดบนหน้า และให้เกียรติกับคนอื่นที่มีหนวดบนหน้า” แฮร์ริสใช้ลักษณะท่าทางที่แตกต่างกันไปเพื่อทำให้ฟอยเป็นได้ทุกอย่าง ยกเว้นการเป็นคนที่เหมือนคนอื่น  เขาบอกว่า “ผมไม่รู้ว่าทำไมผมถึงลงเอยด้วยลักษณะแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่ฟอยโผล่มา ผมจะต้องยื่นมือไปข้างหน้าเหมือนกับกำลังเดินพาเหรดไปทั่ว”

ภารกิจในการหาตัวนักแสดงชายที่จะรับบท คลินช์ ลีเธอร์วู้ด โจรนอกกฎหมายชื่อกระฉ่อน และยังเป็นสามีขี้หึงของแอนนา ทางทีมงานหันไปหา ดาราแอ็กชั่นระดับบล็อกบัสเตอร์อย่าง เลียม นีสัน สตูเบอร์เล่าให้ฟังถึงวิธีการเลือกนักแสดงว่า “สำหรับศัตรูตัวร้าย เรานั่งล้อมวงกันเหมือนเด็กๆ แล้วพูดว่า ‘ฉันอยากให้เราได้คนอย่าง เลียม นีสัน ถ้าได้แบบนั้นจะไม่น่าทึ่งเหรอ’” กลายเป็นว่าพวกเขาไม่ต้องนั่งฝัน “ผมโชคดีมากที่เคยได้ทำงานกับเขามาก่อนหน้านี้ และเขาเองก็เป็นแฟนหนังของเซธอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นเราได้ตัวนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก”

แม็คฟาร์เลนรู้ดีว่า คลินช์ เป็นตัวละครสำคัญของ  A Million Ways to Die in the West เพราะตัวละครตัวนี้จะต้องออกมาน่าเชื่อสมจริง เขาอธิบายว่านีสันคือคนที่เหมาะกับงานนี้ “คลินช์เป็นตัวละครที่ดูเหมือนว่าเขาจะดราม่าไปหมดทุกเรื่อง เขาเป็นคนเลวที่ต้องรับมือกับสถานการณ์จริง นั่นคือหลักที่คุณต้องมีในหนังตลกแบบเรื่องนี้ คุณต้องเชื่อว่าผู้ชายคนนี้เป็นภัยคุกคาม และเลียมก็แสดงได้ระดับปรมาจารย์จริงๆ”

ก่อนหน้าที่จะได้พบกับนีสัน แม็คฟาร์เลนมีไอเดียอยู่แล้วว่าเขาอยากให้คลินช์พูดสำเนียงยังไง นีสันที่เป็นนักแสดงสัญชาติไอริชก็มีความคิดคล้ายๆ กัน แม็คฟาร์เลนเล่าว่า “ผมชอบเสียงพูดของเลียมมาก ฉะนั้นตอนที่เขาเดินเข้ามา ผมคิดว่า ‘พระเจ้า ผมหวังว่าเขาคงจะไม่พูดสำเนียงแบบตะวันตกนะ’ เขามีน้ำเสียงพูดที่ทรงพลังอย่างมาก ผู้ชายคนนี้สามารถนั่งอ่านชื่อจากสมุดโทรศัพท์ แต่คุณก็ยังต้องนั่งและฟังเขา”

นีสันเล่าถึงการแสดงเป็น คลินช์ ที่เป็นคนนอร์เธิร์นไอริชว่า “สองสามปีก่อน ลูกๆ ของผมกลับมาจากโรงเรียน และพูดว่า ‘พ่อ พ่ออยู่ใน Family Guy ด้วย!’ ผมก็เลยนั่งดู และเซธก็ล้อเลียนผม โดยเป็น เลียม นีสัน กำลังแสดงหนังคาวบอย และล้อเลียนสำเนียงการพูดของผม ฉะนั้นตอนที่เราตกลงกันว่าจะแสดงหนังเรื่องนี้ ผมพูดว่า ‘ผมจะยอมแสดง เซธ ถ้าผมสามารถพูดสำเนียงนอร์เธิร์น ไอริชของผมได้ เพื่อให้เกียรติกับ Family Guy’ แล้วเขาก็ตกลง”

นีสันเล่าให้ฟังว่าเขาใส่แบ็คกราวน์ลงไปในเรื่องนี้อย่างไร “คลินช์เป็นผู้ร้ายสุดคลาสสิกตามแบบหนังคาวบอย เขาเป็นมือปืน ผมมาจากทางเหนือของไอร์แลนด์ และผมก็ทำให้เขาเป็นคนไอริชตอนเหนือแท้ๆ ผมนึกเอาว่าชื่อจริงๆ ของเขาอาจจะเป็น เทรเวอร์ แม็คแบร็ด แต่เขามาเปลี่ยนชื่อเป็น คลินช์ ลีเธอร์วู้ด เมื่อเขามาที่แดนตะวันตกของอเมริกา”

นีสันพบว่าการทำงานกับแม็คฟาร์เลนเป็นประสบการณ์ที่เพลิดเพลินมาก “เซธเป็นชายหนุ่มที่มีความสามารถมากมาย เขาเป็นคนที่มีชีวิตชีวา และเปิดรับต่อคำแนะนำและไอเดียต่างๆ ถ้าเขาไม่ชอบไอเดียพวกนั้น เขาก็จะบอก และถ้าเขาชอบ เขาก็จะให้ความร่วมมือดีมาก เขาน่ารักที่คอยให้ความเห็นกับคุณ ถ้าจังหวะมันยังไม่ได้ในฉากหนึ่งๆ เขาจะเปลี่ยนบทพูดหรือแนะนำให้คุณลองทำอะไรสักอย่าง”

จิโอวานนี่ ริบิซี่ ซึ่งเคยทำงานกับทีมงานในภาพยนตร์เรื่อง Ted มาแล้ว ได้รับเลือกให้มารับบท เอ๊ดเวิร์ด เพื่อนซี้ของอัลเบิร์ต ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน ขวัญใจของทีมงานกลุ่มนี้ ได้รับเลือกให้มารับบท รูธ แฟนสาวของเอ๊ดเวิร์ด เอ๊ดเวิร์ดที่เป็นผู้ชายเรียบๆ แบบอัลเบิร์ต เป็นเจ้าของร้านรับซ่อมรองเท้าของเมือง ขณะที่รูธเป็นโสเภณีที่ได้รับความนิยมที่สุดของเมืองโอลด์สตัมป์ ถึงแม้เอ๊ดเวิร์ดและรูธตั้งใจจะแต่งงานกัน แต่พวกเขาก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกกับความจริงที่ว่าอาชีพของเธอนั้นต้องให้บริการผู้ชายวันละ 10 ถึง 15 คน

ริบิซี่อธิบายว่า ทำไมเขาถึงได้เข้ามาทำงานกับภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้ “ผมเชื่อว่ามันเป็นเพราะบทภาพยนตร์ และตัวผู้กำกับ และบริษัทที่คุณสนใจ ตอนที่ผมอ่านบทหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันไม่เหมือนกับเรื่องที่ผมเคยอ่านมาก่อนเลย มันบ้าและฉลาดมาก เป็นเรื่องที่ดี และแน่นอน การทำงานกับเซธก็ยอดเยี่ยมเสมอ” ริบิซี่อธิบายถึงตัวละครของเขาว่า “เอ๊ดเวิร์ดเป็นคนที่เชื่อในค่านิยม เขาเคร่งศาสนาและอยากจะรอก่อน เขาเป็นหนุ่มเวอร์จิ้นที่คบหากับรูธมานานหกปี และพวกเขาต่างเฝ้ารอคืนวันแต่งงาน”

คล๊าร์กยกย่องในความสามารถที่หลากหลายของริบิซี่ “จิโอวานนี่คืออัจฉริยะ ผมเคยเห็นเขาทำทุกอย่าง รวมถึงการเล่นเป็นผู้ร้ายสุดฮาใน Ted จังหวะในการแสดงของเขายอดเยี่ยมมาก และเขายังเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก เขานำอะไรติดตัวมาเยอะ และเขาทำให้เราหัวเราะได้ทุกวันน”

ขณะที่งานตอนกลางวันของเธออาจบ่งบอกไปในแนวทางอื่น แต่รูธมีที่พิเศษในหัวใจให้กับเอ๊ดเวิร์ด ซึ่งคือเหตุผลที่ว่าทำไมเธอถึงไม่มีเซ็กซ์กับเขาจนกว่าจะแต่งงานกัน แม็คฟาร์เลนอธิบายว่า “นี่คืออเมริกาที่ในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนในช่วง 1800 มันคือยุคที่เคร่งศาสนา และเธอไม่อยากมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน เอ๊ดเวิร์ดไม่แคร์ว่าเธอจะมีอะไรกับผู้ชายเป็นฝูง เพราะเขารู้ดีว่าเขาเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวที่พิเศษพอสำหรับเธอจนเธอไม่มีเซ็กซ์กับเขา” ตัวละครตัวนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมีซิลเวอร์แมนอยู่ในความคิด “รูธเป็นตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นพร้อมกับไอเดียที่ว่าจะให้ซาร่าห์แสดงบทนี้”

ซิลเวอร์แมนปล่อยมุขฮาเกี่ยวกับการเลือกเธอมาแสดงบทนี้ “ใช่ พวกเขาเขียนบทนี้โดยนึกถึงฉัน แต่ตอนนั่งโต๊ะทดลองอ่านบทกันคือการออดิชั่นบทของฉัน ฉันได้ยินว่ามีหลายคนที่ไม่ปิ๊งส์กับไอเดียที่ให้สาวยิวมาแสดงเป็นสาวคริสเตียนที่น่ารัก” ถึงแม้รูธจะเป็นโสเภณี แต่ซิลเวอร์แมนพบด้านบวกในตัวละครของเธอ “ฉันคิดว่ารูธชอบงานของเธอนะ เพราะเธอเป็นคนชอบเอาใจคนอื่น เธอไม่ใช่พวกมีความต้องการทางเพศสูง เธอแค่เป็นคนชอบเอาใจคนอื่น ซึ่งเป็นนิสัยที่ดีนะ”

แม็คฟาร์เลนพูดถึงการแสดงที่เข้าขาบนจอระหว่างริบิซี่และซิลเวอร์แมนว่า “จิโอวานนี่กับซาร่าห์คือพลังที่คุณรู้ดีว่าจะต้องส่งผลดีแน่ เขาเป็นนักแสดงดราม่าที่มีพรสวรรค์ในการแสดงหนังตลก ส่วนเธอเป็นนักแสดงตลกที่มีพรสวรรค์ที่พิสูจน์ตัวแล้วว่าเก่งในการแสดงบทดราม่าด้วย นี่คือคนสองคนที่ลงตัวกับสองบทนี้ ซึ่งคุณก็แค่จัดแสง ปล่อยให้กล้องเดิน และปล่อยให้พวกเขาทำงานของพวกเขาไป”

ที่เข้ามาเสริมทีมนักแสดงหลัก ทางทีมงานเลือกนักแสดงสมทบที่ล้วนแต่มีใบหน้าคุ้นตา โดยให้เข้ามารับบทเป็นชาวเมืองโอลด์สตัมป์ ที่มารับบทรับเชิญซึ่งทำให้เซอร์ไพรส์ ก็คือเหล่านักแสดงผู้มีประสบการณ์อย่าง เวส สตูดี้ (Avatar) ในบท โคชีส คนอินเดียนแดงที่นำ อัลเบิร์ต ให้เดินไปบนเส้นทางสว่างที่ต้องอาศัยยาเสพติด, จอห์น ไอล์วอร์ด (ผลงานทางโชว์ไทม์ เรื่อง House of Lies) ในบทบาทหลวงวิลสัน ที่เหี้ยมโหดจนน่าตกใจ และเจย์ แพ็ตเตอร์สัน (ผลงานทางทีวีเรื่อง Law & Order) ในบท ดร.ฮาร์เปอร์ หมอที่ไร้คุณวุฒิประจำเมือง

เมืองสตัมป์ การสร้างเมืองเกิดของอัลเบิร์ต

AMW4เพราะ A Million Ways to Die in the West วางเหตุการณ์เอาไว้ในเมืองคาวบอยในยุค 1880 ทางทีมผู้สร้างจึงตัดสินใจเดินทางไปยังซานตาเฟ, นิวเม็กซิโก เพื่อเล่าเรื่องราวนี้ สตูเบอร์เล่าให้ฟังถึงความท้าทายที่พบ “เมื่อคุณคิดถึงการถ่ายทำในแดนตะวันตก คุณต้องรู้ตัวก่อนว่ามีเมืองพวกนั้นเหลือน้อยมาก ต้องขอบคุณที่ยังเมืองแบบนั้นเหลืออยู่สี่แห่งในนิวเม็กซิโก และอีกสองสามแห่งในอริโซน่า ดังนั้น พวกมันจึงเหมาะกับสิ่งที่เราต้องการ เราต้องมีฟาร์มของอัลเบิร์ต ต้องมีตัวเมือง ต้องมีบ้านของลูอิส และลานเต้นหมู่ โชคดีมากที่ 80 ถึง 90 เปอร์เซนต์ของโลเกชั่นของเรายังใช้งานได้อยู่”

แม็คฟาร์เลนเล่าต่อไปว่าทางทีมผู้สร้างต้องการให้ภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้มีภาพลักษณ์และให้ความรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ที่ตีคู่ไปกับภาพยนตร์คาวบอยเรื่องเก่าของ จอห์น ฟอร์ด ได้ เขาบอกว่า “เราพิจารณาทุกที่ตั้งแต่ เฮเมซ ปูเอโบล ซึ่งสวยมาก จนถึงโมนูเม้นต์ วัลเล่ย์ ซึ่งเป็นตำนาน ไมเคิล บาร์เร็ตต์ ผู้กำกับภาพของเรา เป็นช่างภาพที่เก่งมาก เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดแสง เขารู้ดีว่าผมหมายถึงอะไรเมื่อผมพูดว่า ‘ผมอยากให้คุณรู้สึกราวกับกำลังถ่ายทำหนังดราม่าอยู่’ แล้วเขาก็จัดแสงและมุมกล้องออกมาแบบนั้นเป๊ะเลย”

เมืองโอลด์ สตัมป์ถูกสร้างขึ้นที่ไร่โบนันซ่า ครีก ทางตอนใต้ของซานตาเฟ ไร่แห่งนี้กินพื้นที่หลายพันเอเคอร์ และมีบึงน้ำมากกว่า 5 แห่ง มีมูฟวี่ทาวน์ และฉากบ้านอีกสองหลัง มีภาพยนตร์มากกว่า 130 เรื่อง รวมถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา และแค็ตตาล็อกต่างๆ ไปถ่ายทำที่นั่น ทางทีมผู้สร้างได้เปลี่ยนฉากเหล่านี้ให้กลายเป็นเมืองโอลด์สตัมป์ เมืองที่โดยธรรมชาติแล้วถูกสร้างขึ้นรอบๆ ตอไม้

ระหว่างการตระเวนหาโลเกชั่น โปรดักชั่นดีไซเนอร์ สตีเฟ่นไลน์วีเวอร์ พิจารณาเมืองเหล่านี้หลายเมือง และรู้ดีว่ามีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่แม็คฟาร์เลนจะต้องชอบ เมื่อผู้กำกับมาถึง เขาตอบว่า “ใช่ ที่นี่แหละ”

ถึงแม้พื้นที่ที่ทางทีมผู้สร้างอยากจะสร้างเมืองโอลด์สตัมป์ขึ้นมา จะเล็กและผุพังอย่างมาก แต่พวกเขาเหมือนเห็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียรนัย ไลน์วีเวอร์และทีมของเขาเดินเข้ามา และสร้างโมเดลสามมิติของเมืองที่มีอยู่ขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มวางตำแหน่งของด้านหน้าอาคารต่างๆ และถนนเพื่อเพิ่มขนาดของมันขึ้นสองเท่า ในทุกด้าน พวกเขาได้สร้างตึกรามบ้านช่อง กังหันลม หอถังเก็บน้ำ และโบสถ์ ทางทีมงานได้เดินเข้าไปและตกแต่งภายในอาคารแต่ละหลัง อันที่จริง เมืองโอลด์สตัมป์ต้องใช้เวลาในการสร้างเกือบๆ สามเดือนครึ่ง

ไลน์วีเวอร์อธิบายขั้นตอนว่า “ตอนที่ผมมาที่นี่กับเซธ ความท้าทายก็คือเราตกหลุมรักเมืองนี้ แต่มันมีเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่เราต้องการ ดังนั้น ภารกิจแรกก็คือการเลือกสิ่งที่เรามี สร้างภาพว่าเราจะขยายเมืองและสร้างส่วนเพิ่มเติมอย่างไร มันออกจะเปิดโล่งต่อทางออกทั้งสี่ ดังนั้นเราจึงสร้างรายละเอียดทางภาพเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มสถาปัตยกรรมเข้าไปสองเท่า นอกจากนี้ มันยังเก่าและทรุดโทรม ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนที่เราชอบ ฉะนั้น เราต้องรวมมันเข้าด้วยกัน”

เพื่อใส่ทุกรายละเอียดในโอลด์สตัมป์ ทางทีมผู้สร้างค้นคว้าหาเมืองคาวบอย เพื่อให้ภาพลักษณ์ออกมาดูสมจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไลน์วีเวอร์กล่าวว่า  “เราต้องการให้ทุกอย่างถูกทำออกมาในแบบที่ทำกันในยุคนั้น  เรามีปัญหาหลายอย่างในเรื่องรายละเอียดและความเหมือนจริง เซธกับผมร่วมมือกันในเรื่องนี้ และเราประกาศว่าต้องทำให้ฉากต่างๆ ออกมาเหมือนจริงและทำให้มุขตลกต่างๆ ตลกให้ได้”

“เราต้องการให้ขนาดและภาพลักษณ์ของเรื่องนี้อยู่ในโลกคาวบอยยุค  1880 โดยสิ้นเชิง แต่ก็อยากให้มันให้ความรู้สึกเต็มไปด้วยรายละเอียดและมีสีสัน ไม่ใช่เทคนิคคัลเลอร์ แต่มันควรให้ความรู้สึกว่าเป็นงานคาวบอยของยุคนี้ ไม่สกปรกและมืด” คล๊าร์กกล่าวเสริม แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้แม้แต่บ้านหลังเล็กทุกหลัง รวมถึงที่ทำงานของฟอยด้วย หนึ่งในของประกอบฉากก็คือหนวด ซึ่งฟอยใช้เป็นสิ่งที่วัดความเป็นชายผู้ประสบความสำเร็จของโอลด์สตัมป์ “การค้นคว้าของเราพบว่าการมีหนวดคือการแสดงความมั่งคั่ง การมีหนวดยาวใหญ่หรือเคราข้างหูแสดงว่าคุณเป็นชายผู้มีแนวทางชีวิต”

งานแฟร์แบบบ้านนอกๆ ถูกจัดขึ้นกลางเมืองโอลด์สตัมป์ ในงานมีทั้งเกมยิงปืน ช่างภาพ พ่อค้าที่ยืนเรียกลูกค้าให้มาซื้อยา และโชว์คนประหลาด อ๋อและความตาย ไลน์วีเวอร์หัวเราะ “ครับ เรามีคนตายสองคนที่งานแฟร์นี้ นี่คือ A Million Ways to Die in the West แต่งานแฟร์คือสิ่งที่เราสนุกกันมาก มันเป็นฉากงานแฟร์ในเมืองคาวบอย ดังนั้นเราจึงพยายามทำให้มันคึกครื้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เขาหยุดและพูดต่อ “แต่ผู้คนจะตายที่นี่”

คล๊าร์กกล่าวเสริมว่ามีงานมากมายที่ถูกทำขึ้นเพื่อสร้างงานแฟร์นี้ และถือเป็นหนึ่งในฉากที่ใหญ่ที่สุดในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้อำนวยการสร้างกล่าวว่า  “อันที่จริงแล้ว มันมีบทมากกว่า 10 หน้า มีจังหวะของเรื่องหลากหลาย มีงานสตั๊นต์ และฉากแอ็กชั่น ดังนั้น ที่นั่นเราถ่ายทำฉากกลางแจ้งด้วยตัวประกอบสองร้อยคน และเราก็ต้องจัดการรับมือกับสภาพอากาศทุกวัน ที่เพิ่มเข้ามาในตารางการถ่ายทำ ก็คือ ความจริงที่ว่างานสตั๊นต์และเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ต้องการมุมกล้องที่แยกกันออกไป นอกจากนี้ เรายังใช้สัตว์เยอะมาก ซึ่งรวมถึงวัวที่ต้องวิ่งผ่านเข้าไปกลางงานแฟร์ด้วย”

การจัดฉาก การต่อสู้กับงานด้านต่างๆ ในซานตาเฟ

AMW6ภาพยนตร์คาวบอยมักถูกเขียนถึงว่าเป็นภาพยนตร์กลางแจ้ง และความจริงนั้นก็มาพร้อมกับความท้าทาย วันหนึ่งในการถ่ายทำ หลังจากที่ทั้งทีมนักแสดงและทีมงานเฝ้ารอมานานถึงสี่อาทิตย์เพื่อให้สภาพอากาศปลอดโปร่งและให้มีใบไม้ผลิบนต้นไม้ พวกเขาก็พร้อมเดินหน้าถ่ายทำ เวลาแปดโมงเช้า ทุกอย่างสดใส ตอน 11 โมง มีลมแรง 40 ไมล์ต่อชั่วโมงพัดผ่านมาที่ฉาก จากนั้น นักแสดงก็เจอกับฝูงผึ้ง และในที่สุดเมฆครึ้มก็ปรากฏ

คล๊าร์กอธิบายความวุ่นวายนี้ว่า “เมื่อปีที่แล้วเป็นปีที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมากที่สุดเท่าที่เคยมี ในช่วงระยะเวลายาวนาน เราเจอกับการเปลี่ยนช่วงฤดูลมไปเป็นฤดูมรสุม เราต้องเซ็ตฉากที่ชาร์ลิซถ่ายทำตอนกลางคืน และจะเป็นฉากสุดท้ายของเธอในหนังเรื่องนี้ เราไปถึงกองถ่าย เราจัดแสงเสร็จ และเราก็ถ่ายไปได้หกเทกก่อนที่ฝนจะเริ่มตก และตกต่อเนื่องไปจนถึงตีสาม ในที่สุด เราก็ยอมแพ้เมื่อจู่ๆ ก็เกิดพายุที่แรงที่สุดของปีนั้น หลังจากความพยายามครั้งที่ 2 ที่จะจัดฉากนั้น ซึ่งนำไปสู่การต้องอพยพกันอีกรอบหลังจากน้ำท่วม เราสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อจะลองทำงานกันเป็นครั้งสุดท้าย และนั่นก็คือตอนที่เราทำได้สำเร็จ อย่างที่พวกเขาบอก ครั้งที่สามถึงจะดี”

ถึงแม้จะมีวิวทิวทัศน์งดงาม แต่ฉากของ A Million Ways to Die in the West ก็โดนพายุฝุ่นทรายถล่มใส่ทุกวัน เหมือนกับในยุคคาวบอยสมัยก่อน ทั้งทีมนักแสดงและทีมผู้สร้างรู้สึกคล้ายกันว่านี่เป็นโลเกชั่นที่สภาพอากาศแปรปรวนที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยถ่ายทำมา

เธอรอนเล่าว่า “ฉันเคยถ่ายหนังในซานตาเฟมาหลายเรื่องแล้ว และฉันเข้าใจดีว่าทำไมคนถึงมาที่นี่กัน มันเป็นสถานที่ถ่ายทำที่สวยงามมาก จากบรรดาหนังทุกเรื่องที่ฉันเคยมาถ่ายที่นี่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจอฤดูที่แปรปรวนมาก มีอยู่หลายวันที่มีพายุฝุ่นแรง และไม่มีทางที่คุณจะถ่ายทำได้เลย แต่สุดท้ายแล้ว มันก็เป็นตัวเล่าเรื่องนี้เสียเอง ฉันยังนึกไม่ออกเลยว่าเราจะไปถ่ายหนังเรื่องนี้ที่ไหนได้อีก”

สภาพอากาศกลายเป็นความท้าทายสำหรับไลน์วีเวอร์และทีมงานของเขา เมื่อสภาพอากาศกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างฉาก โปรดักชั่นดีไซเนอร์ผู้นี้อธิบายว่า “ตอนที่เรากำลังสร้างฉากงานแฟร์ประจำเมือง เราจะต้องตั้งเต้นท์ แล้วมันก็พังลงมาหมด เราโดนสภาพอากาศถล่ม ถล่ม แล้วก็ถล่มใส่”

ถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังจะถ่ายทำกันที่ฉากเมืองโอลด์สตัมป์ที่โบนันซ่า ครีก แต่มีอยู่หลายฉากด้วยกันที่ไปถ่ายทำกันที่เฮเมซ สปริงส์, นิวเม็กซิโก, ที่คัมเบรส แอนด์ โทลเท็ค เรลโร้ด ตรงชายแดนนิวเม็กซิโก-โคโลราโด้, ในชิปร็อค, นิวเม็กซิโก และที่โมนูเมนต์ วัลเล่ย์ คล๊าร์กพูดถึงการทำงานที่โมนูเมนต์ วัลเล่ย์ว่า “เราต้องการภาพอันยิ่งใหญ่แบบหนังคาวบอยคลาสสิกของ จอห์น ฟอร์ด โมนูเม้นต์ วัลเล่ย์คือภาพแบบนั้นของดินแดนตะวันตก เราหวังจะสร้างโลกที่ให้ความรู้สึกราวกับมันมีความยิ่งใหญ่แบบหนังคลาสสิกเหล่านั้น ถึงแม้เราจะกำลังทำหนังตลกกันก็เถอะ เราไม่เคยต้องเสียใจกับการตัดสินใจของเราเลย”

ทางทีมผู้สร้างกล้าหาญมากในการตัดสินใจเลือกสถานที่ถ่ายทำ แต่มันก็คุ้มค่า คล๊าร์กกล่าวต่อไปว่า “มันเป็นสถานที่ที่ทุกมุมที่คุณหันไปมอง ล้วนแต่ยิ่งใหญ่งดงาม วันที่สองของเรา ลมพายุถล่มใส่โมนูเมนต์ วัลเล่ย์ และถึงแม้จะเจอกับสภาพอากาศที่ลมแรงถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง ความจริงที่ว่าเราต้องเก็บเครนทั้งหมด และทุกคนต้องรีบวิ่งไปหลบอยู่ในเต้นท์ มันมีความมหัศจรรย์ของการไปอยู่ที่ฟอร์ด พอยต์ ที่ซึ่ง จอห์น ฟอร์ด เคยถ่ายทำหนังที่ดังที่สุดของเขาอยู่หลายเรื่อง”

ในอีกฉากหนึ่ง เป็นฉากที่อัลเบิร์ตและม้าของเขา เข้าไปหลบอยู่ในรถไฟ หลังจากหนีคลินช์และพรรคพวกมา ไลน์วีเวอร์และทีมผู้สร้างมองหาเครื่องจักรไอน้ำจริงๆ มาใช้ แล้วคุณจะหาหัวรถจักรไอน้ำได้จากไหนในนิวเม็กซิโก คำตอบคือ คัมเบรส แอนด์ โทลเท็ค เรลโร้ด เมื่อตอนที่ทีมงานเดินทางไปเยือนครั้งแรก สถานที่แห่งนั้นกำลังโดนพายุหิมะความเร็วลม 60 ไมล์ต่อชั่วโมงถล่มใส่ ดังนั้นพวกเขากลับไปอีกรอบในเดือนมิถุนายน ขณะที่ลมยังคงแรงมาก

วิศวกรบริษัทรถไฟ ให้ไลน์วีเวอร์ดูโมเดลหัวรถจักรไอน้ำในยุค 1880 แต่มันพังหมดแล้ว พวกเขาจึงให้ทีมออกแบบดูรถแบบต่างๆ ทุกอย่างต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไลน์วีเวอร์เล่าว่า “พวกเขาบอกว่าพวกเขาสามารถเตรียมทุกอย่างให้กับเราได้ในเวลาสี่เดือน และพวกเขาก็ทำตามนั้นได้จริงๆ ผมเคยต้องตักถ่านหินใส่เข้าไปในเครื่องไอน้ำเพื่อทำให้มันวิ่งได้ในวันถ่ายทำ มันน่าทึ่งมาก”

ฉากเต้นรำ การออกแบบท่าและดนตรี

AMW7สำหรับเสียงของภาพยนตร์ตลกของเขา แม็คฟาร์เลนเลือกเจ้าของรางวัลเอ็มมี่ โจล แม็คนีลี่ย์ ให้มาแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ และ ริช บรีน มาเป็นคนมิกซ์เสียง แม็คฟาร์เลนเคยร่วมงานกับทั้งสองคนนี้ตอนทำ “Music Is Better Than Words” อัลบั้มงานดนตรีออร์เคสตร้า แจ๊ซ สแตนดาร์ด เขานับถือผลงานของทั้งคู่มาก แม็คฟาร์เลนพูดถึงปฏิกิริยาของเขาที่มีต่อการฟังผลงานออร์เคสตร้า 95 ชิ้นที่แม็คนีลี่ย์เป็นคนทำว่า “ผมรู้สึกยิ่งกว่ามีชีวิตชีวาตอนที่ได้ยินงานดนตรีที่ โจล แต่งให้กับ A Million Ways to Die in the West ครั้งแรก โจลได้นำดนตรีแนวคาวบอยคลาสสิก สไตล์ เอลเมอร์ เบิร์นสไตน์ มาให้เรา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในโทนทั้งหมดของหนังเรื่องนี้”

แม็คฟาร์เลนรู้ดีว่าเพื่อนร่วมงานของเขาจริงจังอย่างมากกับงานที่ได้รับมอบหมายและพวกเขาก็ทำงานได้ดีด้วย “งานดนตรีชุดนี้ให้การสนับสนุนปรัชญาที่น่าจะถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกโดยพี่น้องซัคเกอร์ นั่นก็คือแนวคิดที่ว่า ปล่อยให้ดนตรีก้าวข้ามงานตลก และเล่นมันไปตรงๆ เป็นงานเป็นการ งานดนตรีของโจลมีความจริงใจ ให้อารมณ์ มีลูกเล่น เต็มไปด้วยรายละเอียด มีพลัง งดงาม และตรงกับแกนเรื่อง”

แม็คนีลี่ย์พูดถึงแรงบันดาลใจในการทำงานดนตรีชิ้นนี้ของเขาว่า “การแต่งดนตรีให้กับ A Million Ways to Die in the West ถือเป็นประสบการณ์ที่อิ่มเอมมาก เซธเป็นผู้กำกับที่มีความรู้สึกอ่อนไหวและมีไอเดียแบบนักแต่งเพลงที่ผ่านการฝึกมาแล้ว เป็นผู้ที่ความเข้าใจและไอเดียของเขาไหลผ่านไปในงานดนตรี ผมได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งดนตรีประกอบที่พาย้อนกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของหนังคาวบอย เป็นงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ และตรงกับธีมของเรื่อง”

ในส่วนของเพลงและการเต้นรำ แม็คฟาร์เลนรู้สึกมานานแล้วว่าในภาพยนตร์ทุกเรื่อง ควรจะมีเพลงหลักสักหนึ่งเพลง และงานเพลงที่ถูกนำมาใช้ใน A Million Ways to Die in the West ที่จริงแล้วคือการนำเอาบทเพลงของ สตีเฟ่น ฟอสเตอร์ ชื่อว่า “The Moustache Song” มาจินตนาการใหม่ โดยเพลงดังกล่าวอิงจากเพลงของฟอสเตอร์ และมีการแต่งเนื้อร้องเพิ่มเติมโดยแม็คฟาร์เลน, อเล็ค ซัลกิ้น และเวลเลสลี่ย์ ไวลด์

แม็คฟาร์เลนกล่าวว่า “‘The Moustache Song’ เป็นเพลงเก่าของ สตีเฟ่น ฟอสเตอร์ จากยุค 1860 และมันตลกมากและมันก็เป็นอย่างที่บอกจริงๆ คุณจะได้แอ้มสาวมากขึ้นถ้าคุณมีหนวด ก็ไม่ได้สงสัยอะไรกับ สตีเฟ่น ฟอสเตอร์ หรอกนะ แต่เราเข้าไปเปลี่ยนเนื้อร้องนิดหน่อย และทำให้มันเป็นเพลงหลักของเรื่อง นั่นคือสิ่งที่ผมเกิดคิดขึ้นได้ เมื่อเราถ่ายทำหนังทั้งเรื่องแล้ว ผมคิดว่า ‘พระเจ้า เราจะทำไงเนี่ยถ้าไม่มี นีล แพทริค แฮร์ริส’”

สำหรับงานออกแบบท่าเต้น แม็คฟาร์เลนอาศัยนักออกแบบท่าเต้นผู้มีประสบการณ์ และยังเป็นเพื่อนของเขา ร็อบ แอชฟอร์ด (ผู้ออกแบบท่าเต้นในงานแจกรางวัล 86th Academy Awards®, ภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Cinderella) แอชฟอร์ดและแม็คฟาร์เลนเคยทำงานด้วยกันครั้งแรกเมื่อตอนที่แม็คฟาร์เลนเป็นพิธีกรงานแจกรางวัลออสการ์ในปี 2013 ซึ่งทำให้ทั้งคู่เกิดสนิทสนมกันขึ้น

แอชฟอร์ด เจ้าของรางวัลเอ็มมี่ เล่าว่า “ตอนที่เซธบอกผมว่า เขาอาจจะมีการเต้นหมู่ในหนังเรื่องนี้ และเขาถามผมว่าผมสนใจจะมาออกแบบท่าให้ไหม ผมตอบว่า ‘แน่นอน’ ผมชอบการทำงานกับเซธ อีกอย่าง ยังมี ชาร์ลิซ เธอรอน และอาแมนด้า ไซย์เฟร็ด ด้วย ซึ่งผมเคยร่วมงานมาแล้วบนเวทีออสการ์ ผมเคยร่วมงานกับ นีล แพทริค แฮร์ริส อยู่หลายครั้ง คุณไม่มีทางปฏิเสธองค์ประกอบพวกนี้ได้เลย”

แม็คฟาร์เลนรู้ดีว่าเขาต้องการให้การเต้นหมู่ออกมาเป็นอย่างไร แอชฟอร์ดอธิบายว่า “เขามีภาพอยู่ในหัวแล้ว เขาอาจไม่ใช่คนที่เต้นมาทั้งชีวิต และไม่ใช่คนออกแบบท่าเต้นด้วย แต่เขาสามารถอธิบายได้ว่าเขาจินตนาการฉากเต้นเอาไว้อย่างไรในหนังเรื่องนี้”

ฉากเต้นนี้ประกอบไปด้วยคู่เต้น 16 คู่ ซึ่งรวมถึงแม็คฟาร์เลนและเธอรอน, ไซย์เฟร็ดและแฮร์ริส และริบิซี่กับซิลเวอร์แมน ส่วนนักเต้นคู่อื่นๆ คือคนในท้องที่ในนิวเม็กซิโก รวมถึงนักเต้นอีกห้าคนจากนิวยอร์ก เธอรอนพูดถึงกระบวนการซ้อมเต้นว่า “เราเริ่มต้นซ้อมกันอาจจะสองหรือสามอาทิตย์ก่อนจะถ่ายทำ ฉันคิดว่าทุกคนสนุกกันมากกับการซ้อมเต้น มันไม่ธรรมดาเลย ฉันยังไม่เคยถูกขอให้ทำแบบนั้นในหนังมาก่อน และฉันก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นเคยทำมาไหม แต่พวกเราทุกคนต่างเต็มที่กับมัน เราแค่กลายเป็นเด็ก คุณบอกได้เลยว่าทุกคนชอบมันมาก”

แฮร์ริสที่คุ้นเคยดีกับการร้องเพลงและเต้นในละครบรอดเวย์ สนุกทีเดียวกับการมี แอชฟอร์ด และผู้ร่วมออกแบบท่าเต้น คริส ไบลี่ย์ และซาร่าห์ โอ เกิลบี้  (Beyond the Sea, ละครเวทีเวสต์เอนด์ เรื่อง Guys and Dolls) มาอยู่ที่กองถ่ายด้วย แต่มันก็ไม่ได้เป็นงานง่ายสำหรับแฮร์ริสไปเสียทั้งหมด แฮร์ริสอธิบายว่า “เราต้องซ้อมกันอยู่หลายวันและหลายขั้นตอนมาก ร็อบกับคริสคือคนที่ผมเคยร่วมงานด้วยในงานแจกรางวัลโทนี่ พวกเขารู้หน้าที่ดี และทำให้มันกลายเป็นงานที่สนุกที่ได้เรียนรู้ ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ ครึ่งหลังที่ทุกคนมารวมกันอยู่ที่มุมหนึ่งของโรงนา และพวกเขาก็เต้นเดินเข้าไปหาอัลเบิร์ต มันเหนื่อยมาก และเราถ่ายทำกันนานสี่คืนติดกันในโรงนาแห่งหนึ่ง เป็นโรงนาจริงๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่น”

สุดท้ายแล้ว แอชฟอร์ดอธิบายว่า ความเหน็ดเหนื่อยทั้งหมดคุ้มค่าอย่างมาก “เพลงนี้ช่วยบอกเล่าเรื่อง มันเหมือนเพลงจากละครเวที ฉะนั้นคุณจึงมีรายละเอียดนั้นในหน้ากระดาษ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ออกแบบท่าเต้น และมันยังเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้ลองและสร้างบางอย่าง ซึ่งเหมือนเป็นเพลงเปิดรางวัลออสการ์ มันคือความท้าทายเสมอที่จะใช้ตัวละครเพื่อเล่าเรื่องและเดินเรื่องด้วยการเต้น”

เมื่อมีเพลงไตเติ้ล ที่แสดงโดยนักร้องคันทรีซูเปอร์สตาร์ เจ้าของสองรางวัลแกรมมี่ อลัน แจ็คสัน ที่ทำยอดขายไปมากกว่า 60 ล้านอัลบั้ม รวมถึงงานดนตรีจากแม็คนีลี่ย์ และคำร้องโดย แม็คฟาร์เลน  A Million Ways to Die in the West ก็พร้อมแล้วที่จะเข้าไปโลดแล่นในโรงภาพยนตร์

แม็คฟาร์เลนสรุปความหวังที่เขามีต่อโปรเจ็กต์นี้ว่า “ผมอยากหาวิธีที่จะทำให้คนยุคใหม่เข้าถึงยุคในหนังได้ นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่ามันจะเป็นและสิ่งที่ผู้คนจะได้ไปจากหนังเรื่องนี้ ถ้าจะมีคำพูดใดที่ผมสามารถพูดได้ ก็คงจะเป็นว่าเราภูมิใจกับหนังเรื่องนี้มาก และผมหวังว่าเราจะสามารถไขปริศนาภาพยนตร์ตลกย้อนยุคได้”

****

ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส และเอ็มอาร์ซี ภูมิใจเสนอผลงานการสร้างของ ฟัซซี่ ดอร์, ผลงานการสร้างของบลูกลาส ฟิล์มส์ ภาพยนตร์ของ เซธ แม็คฟาร์เลน, เซธ แม็คฟาร์เลน และชาร์ลิซ เธอรอน นำแสดงใน A Million Ways to Die in the West และร่วมแสดงโดย อาแมนด้า ไซย์เฟร็ด, จิโอวานนี่ ริบิซี่, นีล แพทริค แฮร์ริส, ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน และเลียม นีสัน ภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้คัดเลือกตัวนักแสดงโดย ไชล่า แจฟฟี่ และดนตรีประกอบเป็นฝีมือของ โจล แม็คนีลี่ย์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คือ ซินดี้ อีแวนส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ลำดับภาพโดย เจฟฟ์ ฟรีแมน, เอซีอี และโปรดักชั่น ดีไซเนอร์ คือ สตีเฟ่น ไลน์วีเวอร์ ผู้กำกับภาพ ได้แก่ ไมเคิล บาร์เร็ตต์  A Million Ways to Die in the West อำนวยการสร้างบริหารโดย อเล็ค ซัลกิ้น และเวลเลสลี่ย์ ไวลด์ ทีมผู้อำนวยการสร้างประกอบไปด้วย สก็อตต์ สตูเบอร์, เซธ แม็คฟาร์เลน, เจสัน คล๊าร์ก ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบทโดย เซธ แม็คฟาร์เลน, อเล็ค ซัลกิ้น และเวลเลสลี่ย์ ไวลด์ และกำกับโดย เซธ แม็คฟาร์เลน  www.amillionwaystodie.com

A Million Ways to Die in the West

ประวัตินักแสดง

เซธ แม็คฟาร์เลน (SETH MACFARLANE) รับบท อัลเบิร์ต สตาร์ก/ ผู้เขียนบท/ ผู้กำกับ/ ผู้อำนวยการสร้าง

เซธ แม็คฟาร์เลน เป็นคนที่มีความสามารถหลากหลาย และครอบคลุมทุกแง่มุมของวงการบันเทิง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับความนิยมทั้งทางทีวีและภาพยนตร์จอเงิน ขณะเดียวกัน เขาก็ขยายงานของเขาไปสู่วงการเพลง วรรณกรรม และงานการกุศล

แม็คฟาร์เลนเริ่มต้นด้วยการเรียนทางด้านแอนิเมชั่นและการออกแบบที่โรงเรียนออกแบบโร้ดไอสแลนด์ ไม่นาน ความสามารถของเขาก็ไปสะดุดสายตาของผู้บริหารที่ฟ็อกซ์ ซึ่งเสนองานให้เขาสร้างตอนแรกของซีรีส์เรื่องหนึ่ง ตลอด 6 เดือนต่อมา แม็คฟาร์เลนได้สร้าง เขียนบท และอำนวยการสร้าง รวมถึงกำกับ และยังให้เสียงพากย์ให้กับหนังสั้นความยาวเพียง 7 นาทีที่ต่อมากลายเป็นเรื่อง Family Guy เขาเพิ่งอายุ 25 ปีเท่านั้นเมื่อตอนที่ซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์ทางฟ็อกซ์ และทำให้เขากลายเป็นพิธีกรรายการทีวีที่อายุน้อยที่สุด

นอกจาก Family Guy แล้ว แม็คฟาร์เลนยังทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสร้าง ผู้อำนวยการสร้างบริหาร และนักแสดงผู้ให้เสียงแก่ซีรีส์ American Dad! และ The Cleveland Show ซึ่งเพิ่งจะยุติการออกอากาศในเดือนพฤษภาคม  2013 หลังจากออกอากาศมา 88 ตอน

แม็คฟาร์เลนประเดิมงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 2012 ด้วยภาพยนตร์เรต “R” ที่โกยรายได้ไปมากที่สุดอย่าง Ted ภาพยนตร์ตลกคู่หูเรื่องนี้ นำแสดงโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก โดยมี แม็คฟาร์เลน มาให้เสียงเป็นเจ้าหมีเท็ดดี้ปากเสียแต่น่ารัก ภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมเขียนบทและกำกับโดยแม็คฟาร์เลน และสามารถทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $545 ล้านเหรียญ ขณะที่ภาคต่ออยู่ระหว่างดำเนินงานสร้าง และมีกำหนดเปิดตัวฉายวันที่ 26 มิถุนายน 2015

ในปี 2013 แม็คฟาร์เลนเป็นพิธีกรงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85และเขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Ted ด้วย

 

 

ชาร์ลิซ เธอรอน (CHARLIZE THERON) รับบท แอนนา

ชาร์ลิซ เธอรอน นักแสดงสาวเจ้าของรางวัลออสการ์  คือหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคของเรา ด้วยความสามารถที่หลากหลายในการรับบทเป็นตัวละคร เธอรอนสามารถทำให้คนดูหันมาสนใจได้ในทันที่เธอปรากฎตัวขึ้นบนจอ

ในภาพยนตร์ที่ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม เรื่อง Monster เธอรอนจับใจคนดูด้วยการรับบทเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ไอลีน วูออร์นอส จนทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ และรางวัลอื่นๆ มากมาย

เธอรอนยังได้รับคำชมจากภาพยนตร์ของ นิกกี้ คาโร เรื่อง North Country ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ ฟรานซิส แม็คดอร์แมนด์ และซิสซี่ สปาเซ็ก โดยเธอรอนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์, รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลจากอีกหลายสถาบัน

เธอรอนแสดงนำในภาพยนตร์ตลกเสียดสีของ เจสัน ไรต์แมนเรื่อง Young Adult ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ตลกหรือภาพยนตร์เพลง เธอรอนยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่อง Prometheus และ Snow White & the Huntsman โดยเรื่องหลัง เธอร่วมแสดงกับ คริสเตน สจ๊วร์ต และคริส เฮมส์เวิร์ธ เธอยังจะร่วมแสดงในภาพยนตร์ใหม่ของ จอร์จ มิลเลอร์ เรื่อง Mad Max: Fury Road และ Dark Places ที่สร้างจากนิยายขายดีของ จิลเลี่ยน ฟลินน์

ในปี 2008 เธอรอนแสดงนำในภาพยนตร์ตลกแอ็กชั่นเรื่อง Hancock ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ วิลล์ สมิธ และเจสัน เบทแมน ซึ่งกลายเภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของปีนั้น

คนดูได้สัมผัสเสน่ห์ของเธอรอนครั้งแรกในผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ เรื่อง 2 Days in the Valley ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เจมส์ สเปเดอร์, เอริค สโตลท์ซ และเจฟฟ์ แดเนียลส์ เธอยังแสดงนำร่วมกับ อัล ปาชิโน่ และคีอานู รีฟส์ ใน The Devil’s Advocate, แสดงนำกับ ทอม แฮงก์ส ในภาพยนตร์เรื่อง That Thing You Do! และแสดงนำในภาพยนตร์ของ โจนาธาน ลินน์ เรื่อง Trial and Error นอกจากนี้ เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ วูดี้ อัลเลน เรื่อง Celebrity ติดตามมาด้วย Mighty Joe Young ซึ่งเธอรอนแสดงนำร่วมกับ บิลล์ แพ็กซ์ตัน ในปี 1999 เธอรอนแสดงนำในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ เรื่อง The Cider House Rules และในภาพยนตร์ของ นิวไลน์ ซีนีม่า เรื่อง The Astronaut’s Wife ที่เธอแสดงนำร่วมกับ จอห์นนี่ เด๊ปป์ ในปี 2000 เธอรอนมีผลงานออกมาติดต่อกันหลายเรื่อง ได้แก่ ในภาพยนตร์ของ โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด เรื่อง The Legend of Bagger Vance ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ สมิธ และแม็ตต์ เดม่อน, ภาพยนตร์ของฟ็อกซ์ 2000 เรื่อง Men of Honor ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ โรเบิร์ต เดอ นีโร และคิวบา กู้ดดิ้ง จูเนียร์, ภาพยนตร์ของ จอห์น แฟรงเกนไฮมเมอร์ เรื่อง Reindeer Games ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ เบน อัฟเฟล็ค และภาพยนตร์ของ มิราแม็กซ์ เรื่อง The Yards ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก, วาคิน ฟีนิกซ์, เจมส์ คาน และเฟย์ ดันนาเวย์ ในปี 2001 เธอแสดงนำได้อย่างงดงามในภาพยนตร์เรียกน้ำตาของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ เรื่อง Sweet November ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ รีฟส์ รวมถึงภาพยนตร์ของ อัลเลน เรื่อง The Curse of the Jade Scorpio ซึ่งเธอรอนแสดงนำร่วมกับ เฮเลน ฮันท์, แดน แอ็กรอยด์ และเดวิด โอ๊กเด้น สเทียร์ส ส่วนในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2002 เธอรอนแสดงนำร่วมกับแพทริค สเวย์ซี่, นาตาชา ริชาร์ดสัน และบิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตัน ในภาพยนตร์เรื่อง Waking Up in Reno จากนั้น เธอได้แสดงนำร่วมกับ เควิน เบคอน และดาโกต้า แฟนนิ่ง ในภาพยนตร์ของ หลุยส์ แมนโดกิ เรื่อง Trapped ส่วนในปี 2003 เธอรอนแสดงนำร่วมกับ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก ในภาพยนตร์ของ พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง The Italian Job ซึ่งกำกับโดย เอฟ แกรี่ เกรย์ ติดตามมาด้วยผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมอย่าง  Monster และ North Country เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง Aeon Flux และในปี 2007 เธอแสดงนำร่วมกับ ทอมมี่ ลี โจนส์ ในภาพยนตร์ของ พอล แฮ็กกิส เรื่อง In the Valley of Elah

ในปี 2008 เธอรอนอำนวยการสร้างและแสดงนำในภาพยนตร์ของ กีลเลอร์โม่ อาร์เรียก้า เรื่อง The Burning Plain

 

อาแมนด้า ไซย์เฟร็ด (AMANDA SEYFRIED) รับบทลูอิส

อาแมนด้า ไซย์เฟร็ดสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะหนึ่งในนักแสดงนำหญิงรุ่นใหม่ที่มาแรงที่สุดของฮอลลีวู้ด

ในปี 2015 ไซย์เฟร็ดจะแสดงนำในภาพยนตร์ของ โนอาห์ บาวม์แบช เรื่อง While We’re Young ที่เธอแสดงนำร่วมกับ นาโอมี่ วัตต์ส และเบน สติลเลอร์ ซึ่งสร้างโดยบริษัท สก็อตต์ รูดิน โปรดักชั่นส์

เมื่อเร็วๆ นี้ ไซย์เฟร็ดเพิ่งปิดกล้องภาพยนตร์เรื่อง Fathers and Daughters ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ รัสเซลล์ โครว์ และแอรอน พอล เธอยังจะเริ่มต้นงานถ่ายทำภาพยนตร์ของ เซธ แม็คฟาร์เลน เรื่อง Ted 2 ภาคต่อของภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Ted โดยร่วมแสดงกับ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก

ในปี 2013 ไซย์เฟร็ดให้เสียงภาพยนตร์การ์ตูนของ ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ แอนิเมชั่น เรื่อง Epic โดยเธอร่วมงานกับ บียอนเซ่ โนว์ลส์, คริสตอฟ วอลท์ซ และโคลิน ฟาร์เรลล์ เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Lovelace ภาพยนตร์ดราม่าที่กำกับโดย ร็อบ เอ็ปสไตน์ และเจฟฟรีย์ ฟรายด์แมน

ในปี 2012 ไซย์เฟร็ดแสดงนำในภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง “Les Misérables” ซึ่งเธอประกบบทกับ แอนน์ แฮ็ทธาเวย์, ฮิวจ์ แจ็คแมน และรัสเซลล์  โครว์

ในปี 2011 ไซย์เฟร็ดแสดงนำร่วมกับ จัสติน ทิมเบอร์เลค ในภาพยนตร์ไซไฟ/ แอ็กชั่น ทริลเลอร์ ของนิวรีเจนซี่ เรื่อง  In Time และในปีเดียวกันนี้ เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ของวอร์เนอร์ บราเธอร์ พิคเจอร์ส เรื่อง Red Riding Hood

ในปี 2010 ไซย์เฟร็ดแสดงนำร่วมกับ แชนนิ่ง ทาทั่ม ในภาพยนตร์ฮิตโกยเงินเรื่อง Dear John ซึ่งดัดแปลงบทมาจากหนังสือนิยายขายดีของ นิโคลัส สปาร์ก ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $100 ล้าน ไซย์เฟร็ดยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ ซัมมิท เอนเตอร์เทนเม้นต์ เรื่อง Letters to Juliet ซึ่งเธอรับบทเป็นหญิงสาวชาวอเมริกันที่เดินทางไปยังเมืองวีโรน่า ประเทศอิตาลี เพื่อตอบจดหมายให้กับคนที่เขียนมาหาจูเลียต จากบทละครเรื่อง “Romeo and Juliet” และในปีเดียวกันนี้ เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Chloe ผลงานการกำกับของ อะตอม อีโกแยน และร่วมแสดงกับ จูลีแอนน์ มัวร์ และเลียม นีสัน

ปี 2009 ไซย์เฟร็ดแสดงนำในภาพยนตร์ของ ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เรื่อง  Jennifer’s Body ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เมแกน ฟ็อกซ์

ปี 2008 ไซย์เฟร็ดแสดงนำในภาพยนตร์สุดฮิตของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Mamma Mia! ซึ่งเธอรับบท โซฟี ลูกสาวของดอนน่า (เมอริล สตรีพ) ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $600 ล้าน

ไซย์เฟร็ดเริ่มแจ้งเกิดในวงการจากภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง Mean Girls ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ลินด์ซีย์ โลแฮน, เรเชล แม็คอดัมส์ และเลซี่ย์ ชาเบิร์ต

 

จิโอวานนี่ ริบิซี่ (GIOVANNI RIBISI) รับบท เอ๊ดเวิร์ด

จิโอวานนี่ ริบิซี่ สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยการรับบทที่หลากหลาย เมื่อเร็วๆ นี้ เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์ตลกของ ฟ็อกซ์ เรื่อง Dads และในปี 2012 เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Ted ซึ่งกำกับโดย เซธ แม็คฟาร์เลน

ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของ ริบิซี่ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Contraband และภาพยนตร์ของ จีเค ฟิล์มส์ เรื่อง The Rum Diary ริบินี่ยังเป็นหนึ่งในนักแสดงของภาพยนตร์รวมดาราเรื่อง Gangster Squad ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ฌอน เพนน์, จอช โบรลิน และไรอัน กอสลิ่ง ในปี 2009 เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ เจมส์ คาเมรอน เรื่อง Avatar ซึ่งคว้าสามรางวัลออสการ์ และสองรางวัลลูกโลกทองคำ และกลาเย็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล

ในบรรดาผลงานของริบิซี่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ ภาพยนตร์ของ ไมเคิล มานน์ เรื่อง Public Enemies, ภาพยนตร์ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่อง Saving Private Ryan, ภาพยนตร์ของ โซเฟีย ค็อปโปล่า เรื่อง The Virgin Suicides และ Lost in Translation, ภาพยนตร์ของ แอนโธนี่ มิงเกลล่า เรื่อง Cold Mountain และภาพยนตร์ของ เดวิด ลินช์ เรื่อง Lost Highway ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของริบิซี่ ได้แก่ The Dead Girl, Perfect Stranger, Flight of the Phoenix, Boiler Room, Gone in Sixty Seconds, The Other Sister, Sky Captain and the World of Tomorrow, SubUrbia, Heaven, First Love, Last Rites, That Thing You Do!, The Mod Squad, Masked and Anonymous และ The Big White

นีล แพทริค แฮร์ริส (NEIL PATRICK HARRIS) รับบท ฟอย

เมื่อเร็วๆ นี้ นีล แพทริค แฮร์ริส เพิ่งจะปิดม่านการรับบทเป็นเสือผู้หญิง บาร์นี่ สตินสัน ที่เขารับบทแสดงมานานเก้าปี ในซีรีส์แนวตลกยอดฮิตของ CBS เรื่อง How I Met Your Mother ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย

แฮร์ริสเริ่มมีชื่อเสียงจากวงการทีวี โดยรับบทนำในซีรีส์เรื่อง Doogie Howser, M.D. บทบาทที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ  หลังจากนั้นเขามีผลงานทางทีวีออกมามากมาย

ภายใต้การกำกับของ เดวิด ฟินเชอร์ อีกไม่นาน แฮร์ริสจะมีผลงานการแสดงร่วมกับ เบน อัฟเฟล็ค, โรซามันด์ ไปก์ และไทเลอร์ เพอร์รี่ ในภาพยนตร์ของ ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เรื่อง Gone Girl ซึ่งสร้างมาจากนิยายขายดีของ จิลเลี่ยน ฟลินน์ แฮร์ริสประเดิมงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก โดยประกบบทกับ วูปี้ โกลด์เบิร์ก ในภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง Clara’s Heart ซึ่งเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำตัวแรก เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้กลับไปรับบทเป็น แพทริค วินสโลว์ ในภาพยนตร์ของ โซนี่ พิคเจอร์ส เรื่อง The Smurfs 2 ซึ่งเป็นภาคต่อของภาพยนตร์ฮิตเรื่อง The Smurfs ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่  A Very Harold & Kumar 3D Christmas, Beastly, The Best and the Brightest, Harold & Kumar Escape From Guantanamo Bay, Harold & Kumar Go to White Castle, Undercover Brother, The Next Best Thing, The Proposition และ Starship Troopers

แฮร์ริสยังแสดงความสามารถในการให้เสียงในภาพยนตร์แอนิเมชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ เขาให้เสียงในบท สตีฟ เดอะมังกี้ ในภาพยนตร์เรื่อง Cloudy With a Chance of Meatballs 2 ภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง Cloudy With a Chance of Meatballs และเขายังจะไปให้เสียงกับตัวละคร คลิฟฟ์ ในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องใหม่ของ พิกซาร์ เรื่อง The Good Dinosaur เรื่องราวที่จินตนาการถึงโลกที่ไดโนเสาร์สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดเปิดตัวฉายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015

 

ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน (SARAH SILVERMAN) รับบท รูธ

ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน เจ้าของรางวัลไพรมไทม์ เอ็มมี่ มีผลงานทั้งภาพยนตร์จอเงิน จอแก้ว และการแสดงตลก เธอเพิ่งจะปิดกล้องภาพยนตร์ดราม่า เรื่อง I Smile Back ที่ดัดแปลงจากนิยายของ เอมี่ ค็อปเปลแมน ซึ่งเธอรับบทนำ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ซิลเวอร์แมนได้จัดงานเดี่ยวไมโครโฟนความยาว 1 ชั่วโมงที่ชื่อ We Are Miracles ที่ออกอากาศทาง HBO

ในปี 2012 ซิลเวอร์แมนให้เสียงกับตัวละครตัวหนึ่งในหนังตลกของวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ เรื่อง Wreck-It Ralph เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ดราม่าปนตลกของ ซาร่าห์ พอลลี่ย์ เรื่อง Take This Waltz ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ มิเชลล์ วิลเลี่ยมส์ และเซธ โรแกน ในปี 2005 ซิลเวอร์แมนสร้างความประทับใจในภาพยนตร์คอนเสิร์ต เรื่อง Sarah Silverman: Jesus Is Magic ซึ่งได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต้ ซิลเวอร์แมนยังได้รับคำชมในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Aristocrats ซึ่งให้นักแสดงตลกชั้นแนวหน้าจำนวน 100 คน มาเล่าเรื่องตลกเรื่องเดยวกัน ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอ ได้แก่ Peep World, I Want Someone to Eat Cheese With, School of Rock, There’s Something About Mary และ The Way of the Gun

เลียม นีสัน (LIAM NEESON) รับบท คลินช์ ลีเธอร์วู้ด

เลียม นีสัน สร้างชื่อให้เป็นที่จดจำทั้งในแวดวงภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ และภาพยนตร์อินดี้ที่ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม นีสันเคยได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถ่ายทอดชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ถึง 3 ครั้ง เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลบัฟต้า จากการรับบทเป็น ออสการ์ ชินด์เลอร์ ในภาพยนตร์ปี 1993 ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่อง Schindler’s List สามปีต่อมา เขารับบทนำในภาพยนตร์ชีวประวัติ ผลงานของ นีล จอร์แดน เรื่อง Michael Collins ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ และได้รับรางวัล Evening Standard British Film Award  ส่วนในปี 2004 นีสันรับบทเป็นนักค้นคว้าเรื่องเซ็กซ์ อัลเฟร็ด คินซี่ย์ ในภาพยนตร์ของ บิลล์ คอนดอน เรื่อง Kinsey ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งที่ 3

เมื่อเร็วๆ นี้ นีสันแสดงนำในภาพยนตร์ตลกสุดฮิตเรื่อง Anchorman 2: The Legend Continues, ภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติคของ พอล แฮ็กกิส เรื่อง Third Person และภาพยนตร์ของ ฮาวเม่ คอลเล็ต-เซอร์ร่า เรื่อง Non-Stop

นีสันยังจะมีผลงานใหม่อีกหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น ภาพยนตร์ของ คอลเล็ต-เซอร์ร่า เรื่อง Run All Night, ภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง A Walk among the Tombstones และภาพยนตร์ที่ทุกคนรอคอยเรื่อง Taken 3

นีสันยังให้เสียงพากย์ในภาพยนตร์การ์ตูนของ โอเพ่น โร้ด ฟิล์มส์ เรื่อง The Nut Job; ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เรื่อง The Lego Movie ที่กำกับโดย ฟิล ลอร์ด และคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์; The Prophet ที่สร้างจากหนังสือคลาสสิกของ คาห์ลิล ยิบราน และภาพยนตร์การ์ตูนของ มิลเลนเนียม เอนเตอร์เทนเม้นต์ เรื่อง Khumba

ปี 2012 นีสันกลับไปรับบทเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ไบรอัน มิลล์ ในภาพยนตร์เรื่อง Taken 2 ภาคต่อของภาพยนตร์ฮิตปี 2008 เรื่อง Taken เขายังร่วมแสดงนำในภาพยนตร์แอ็กชั่น ไซไฟ ของปีเตอร์ เบิร์ก เรื่อง Battleship, รับบทเป็น ซุส ในภาพยนตร์เรื่อง Wrath of the Titans และแสดงนำในภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ โจ คาร์นาแฮน เรื่อง The Grey ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ของ คอลเล็ต-เซอร์ร่า เรื่อง Unknown; ภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ พอล แฮ็กกิส เรื่อง The Next Three Days; The A-Team และ Clash of the Titans รวมไปถึงภาพยนตร์อินดี้อย่าง Chloe ที่กำกับโดย อะตอม อีโกแยน, After Life ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ คริสติน่า ริคชี่ เขายังให้เสียงเป็น ราชสีห์อัสลาน ใน The Chronicles of Narnia: The Voyage of the Dawn Treader ในเดือนกรกฎาคม ปี 2012 เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง The Dark Night Rises

ปี 2008 นีสันแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Taken ภาพยนตร์ฮิตโกยเงินที่ว่าด้วยเรื่องราวของอดีตทหารที่พยายามตามล่าพวกค้ามนุษย์ชาวอัลเบเนีย ที่ลักพาตัวลูกสาวของเขาไป ในปีเดียวกันนั้น นีสันยังร่วมแสดงกับ ลอร่า ลินนี่ย์ ในภาพยนตร์ของ ริชาร์ด อายร์ เรื่อง The Other Man ในเดือนพฤษภาคม ปี 2008 นีสันกลับไปให้เสียงเป็นราชสีห์ อัสลาน ในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จของดิสนีย์ เรื่อง The Chronicles of Narnia: Prince Caspian, ภาคต่อของภาพยนตร์ฮิตปี 2005 เรื่อง The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe

ในปี 2005 เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์เอพิคของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่อง Kingdom of Heaven เขายังร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Batman Begins ซึ่งกำกับโดย โนแลน

ในปี 2002 นีสันแสดงนำร่วมกับ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในภาพยนตร์เรื่อง K-19: The Widowmaker เรื่องจริงเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย เขายังแสดงนำในภาพยนตร์เสียดสีเรื่อง Gun Shy (2000) โดยร่วมแสดงกับ แซนดร้า บูลล็อค

นีสันแสดงนำในภาพยนตร์ที่เป็นปรากฎการณ์ เรื่อง Star Wars: Episode I–The Phantom Menace (1999) ผู้ประสิทธิ์ประสาทพลังให้กับ โอบีวัน เคโนบี และอนากิน สกายวอล์กเกอร์ ในปีเดียวกันนั้น เขายังแสดงนำร่วมกับ แคเธอรีน ซีต้า-โจนส์ ในภาพยนตร์ของ ยาน เดอ บองต์ เรื่อง The Haunting

 

ประวัติทีมผู้สร้าง

อเล็ค ซัลกิ้น (ALEC SULKIN) – ผู้เขียนบท/ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

อเล็ค ซัลกิ้น มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดจากการเขียนบทและอำนวยการสร้างหลายตอนของซีรีส์เรื่อง Family Guy เขายังให้เสียงพากย์ใน Family Guy รวมถึง The Cleveland Show ซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งของ เซธ แม็คฟาร์เลน ผู้สร้าง Family Guy

ซัลกิ้นเริ่มต้นงานเขียนบท ด้วยการเป็นมือเขียนบทให้กับ The Late Late Show With Craig Kilborn ในช่วงสามปีแรกของรายการนี้

ซัลกิ้นเข้าร่วมงานกับ Family Guy ในปี 2004 นับแต่นั้น เขาทั้งอำนวยการสร้าง เขียนบท และให้เสียงกับหลายตอน

เดือนสิงหาคม ปี 2010 ซัลกิ้นและหุ้นส่วนเขียนบทของเขา เวลเลสลี่ย์ ไวลด์ ได้เซ็นสัญญากับทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ นานสามปี และในปี 2012 ซัลกิ้นได้ร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์ตลกยอดนิยม เรื่อง Ted โดยเขาร่วมเขียนบทกับแม็คฟาร์เลนและไวลด์

 

เวลเลสลี่ย์ ไวลด์ (WELLESLEY WILD) – ผู้เขียนบท/ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

เวลเลสลี่ย์ ไวลด์เริ่มต้นทำงานในนิวยอร์กซิตี้ โดยเขาทำงานกับรายการ Saturday Night Live หลังจากย้ายมาอยู่ที่ลอสแองเจลิส เขาได้ทำงานเป็นมือเขียนบทให้กับรายการ The Late Late Show With Craig Kilborn

ไวลด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการเขียนบทให้กับหลายตอนของซีรีส์ Family Guy ซึ่งเขาเข้าร่วมงานในปี 2004 เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร รวมถึงให้เสียงพากย์ด้วย

ขณะประสบความสำเร็จทางทีวี ไวลด์ พร้อมด้วย อเล็ค ซัลกิ้น หุ้นส่วนการเขียนบทของเขา และเซธ แม็คฟาร์เลน ผู้สร้าง Family Guy ได้ร่วมมือกันเขียนบทให้กับภาพยนตร์ตลกที่ประสบความสำเร็จในปี 2012 เรื่อง Ted

 

สก็อตต์ สตูเบอร์ (SCOTT STUBER) – ผู้อำนวยการสร้าง

สก็อตต์ สตูเบอร์ คือผู้ก่อตั้งและเป็นซีอีโอของบลูกลาส ฟิล์มส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส มาตั้งแต่ปี 2006

เมื่อเร็วๆ นี้ บลูกลาส ฟิล์มส์ ได้เปิดตัวผลงานหลายเรื่อง อาทิเช่น Identity Thief ซึ่งนำแสดงโดย เมลิสซ่า แม็คคาร์ธี่ และเจสัน เบทแมน ซึ่งกำกับโดย เซธ กอร์ดอน และทำรายได้ในอเมริกาไปมากกว่า $100 ล้าน; Ted ภาพยนตร์ตลกเรต “R” ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย เซธ แม็คฟาร์เลน และนำแสดงโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก, มิล่า คูนิส และแม็คฟาร์เลน และ Safe House ซึ่งนำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน และไรอัน เรย์โนลด์ส และกำกับโดย แดเนียล เอสปิโนซ่า

ปัจจุบัน สตูเบอร์อยู่ระหว่างทำงานโพสต์โปรดักชั่นของภาพยนตร์ของ ไมเคิล คูเอสต้า เรื่อง Kill the Messenger ซึ่งนำแสดงโดย เจเรมี่ เรนเนอร์ จากบทภาพยนตร์ของ ปีเตอร์ แลนเดสแมน

ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ สตูเบอร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ตลกโรแมนติคปี 2006 เรื่อง The Break-Up ซึ่งนำแสดงโดย วินซ์ วอห์น และเจนนิเฟอร์ อนิสตัน และในซัมเมอร์ปีนั้น เขายังมีผลงานเป็นภาพยนตร์ฮิตเรื่อง You, Me and Dupree ซึ่งนำแสดงโดย โอเว่น วิลสัน และเคท ฮัดสัน ติดตามมาด้วยภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมของ ปีเตอร์ เบิร์ก เรื่อง The Kingdom; ภาพยนตร์ตลกของ มาร์ติน ลอว์เรนซ์ เรื่อง Welcome Home, Roscoe Jenkins; ภาพยนตร์ฮิตของ เดวิด เวน เรื่อง Role Models ซึ่งนำแสดงโดย พอล รัดด์ และฌอนน์ วิลเลี่ยม สก็อตต์ และเรื่อง Couples Retreat ซึ่งนำแสดงโดย วอห์น และจอน แฟฟโรว์

ในช่วงเวลา 8 ปีที่ สตูเบอร์ อยู่ที่ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เขากับแมรี่ พาเร้นท์ ได้ดูแลงานสร้างภาพยนตร์ทั่วโลก โดยเขารับผิดชอบดูแลงานสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย อาทิเช่น King Kong, Jarhead, A Beautiful Mind, Seabiscuit, Cinderella Man, Munich, Meet the Parents, Meet the Fockers, The Bourne Identity, The Bourne Supremacy, About a Boy, The 40-Year-Old Virgin, 8 Mile, Spy Game, The Family Man, The Nutty Professor, Nutty Professor II: The Klumps, ภาพยนตร์แฟรนไชส์ The Mummy, ภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่อง American Pie, ภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่อง Fast & Furious, Friday Night Lights, Bring It On

 

 

 

เจสัน คล๊าร์ก (JASON CLARK) – ผู้อำนวยการสร้าง

เจสัน คล๊าร์กคือผู้อำนวยการสร้างที่มีผลงานที่เป็นภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดง ภาพยนตร์เทคนิคซีจีไอ และผลงานทางทีวี คล๊าร์กทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ชีวประวัติของ แจ็คกี้ โรบินสัน เรื่อง 42 ที่เปิดตัวฉายเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2013 ก่อนหน้านั้น คล๊าร์กทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของ เซธ แม็คฟาร์เลน เรื่อง Ted ซึ่ง ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เปิดตัวฉายในวันที่ 29 มิถุนายน 2012

คล๊าร์กยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ เรื่อง Act of Valor ก่อนหน้านั้น คล๊าร์กทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ 3D เรื่อง Monster House ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม คล๊าร์กยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์สุดฮิตเรื่อง Stuart Little และ Stuart Little 2

นอกจาก  A Million Ways to Die in the West แล้ว ปัจจุบัน คล๊าร์กยังทุ่มเทให้กับการทำงานกับสองโปรเจ็กต์ใหม่ของแม็คฟาร์เลน

 

ไมเคิล บาร์เร็ตต์ (MICHAEL BARRETT) – ผู้กำกับภาพ

ไมเคิล บาร์เร็ตต์ เกิดในริเวอร์ไซด์, แคลิฟอร์เนีย ผลงานที่ผ่านมาของเขา ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Kiss Kiss Bang Bang, You Don’t Mess With the Zohan, Bedtime Stories, Zookeeper, ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เรื่อง Bobby, A Very Harold & Kumar 3D Christmas, About Last Night และผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เซธ แม็คฟาร์เลน เรื่อง Ted

สตีเฟ่น ไลน์วีเวอร์ (STEPHEN LINEWEAVER) – โปรดักชั่น ดีไซเนอร์

ผลงานในระยะแรกๆ ของ สตีเฟ่น ไลน์วีเวอร์ รวมถึงการทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง After Hours และภาพยนตร์ของ โจนาธาน เด็มมี่ เรื่อง Something Wild, ภาพยนตร์ของ จอห์น เซย์เลส เรื่อง The Brother From Another Planet และภาพยนตร์ของ เอมิล อาร์โดลิโน่ เรื่อง Dirty Dancing เขายังทำหน้าที่เป็นโปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ให้กับผู้กำกับ เจมส์ แอล บรู้กส์ ในภาพยนตร์เรื่อง I’ll Do Anything และภาพยนตร์ของ คาเมรอน โครว์ เรื่อง  Jerry Maguire และ Singles

ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของไลน์วีเวอร์ ได้แก่ ภาพยนตร์สุดฮิตของ เซธ แม็คฟาร์เลน เรื่อง Ted และภาพยนตร์ของ เดวิด เวน เรื่อง Role Models ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ Blades of Glory ซึ่งนำแสดงโดย วิลล์ เฟอร์เรลล์; ภาพยนตร์ของ ไบรอัน ลีแวนต์ เรื่อง The Spy Next Door, Are We There Yet? และ Snow Dogs; Ace Ventura: When Nature Calls; Tommy Boy และ City Slickers II: The Legend of Curly’s Gold

 

เจฟฟ์ ฟรีแมน (JEFF FREEMAN, ACE) - ผู้ลำดับภาพ

ก่อนหน้านี้ เจฟฟ์ ฟรีแมน เคยร่วมงานกับ เซธ แม็คฟาร์เลน มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Ted ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล American Cinema Editors (ACE) Eddie Award สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม – ภาพยนตร์ตลกหรือภาพยนตร์เพลง

ฟรีแมนเคยทำหน้าที่เป็นผู้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์เรื่อง Paul Blart: Mall Cop ซึ่งนำแสดงโดย เควิน เจมส์; Harold & Kumar Escape From Guantanamo Bay; Hamlet 2 ซึ่งนำแสดงโดย สตีฟ คูแกน และเอลิซาเบธ ชู; Nancy Drew ซึ่งนำแสดงโดย เอ็มม่า โรเบิร์ตส์; Just Friends นำแสดงโดย ไรอัน เรย์โนลด์ส, เอมี่ สมาร์ท และแอนนา ฟาริส และ Cruel Intentions ซึ่งนำแสดงโดย ซาร่าห์ มิเชลล์ เกลล่าร์, ไรอัน ฟิลิปเป้ และรีส วิเธอร์สปูน

ฟรีแมนยังทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ของ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส เรื่อง The Craft ซึ่งนำแสดงโดย เนฟ แคมป์เบลล์, โรบิน ทันนีย์ และไฟรูซ่า บอลก์ และ The Waterdance ซึ่งนำแสดงโดย เอริค สโตลต์ซ, เวสลี่ย์ สไนปส์, วิลเลี่ยม ฟอร์ซิธ และเฮเลน ฮันต์

ฟรีแมนยังทำหน้าที่เป็นผู้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ของ ทัชสโตน พิคเจอร์ส เรื่อง  Mad Love ซึ่งนำแสดงโดย ดรูว์ แบร์รี่มอร์ และคริส โอดอนเนลล์; Frankie and Johnny Are Married ซึ่งนำแสดงโดย ไมเคิล เพรสแมน, ลิซ่า เชสส์ และอลัน โรเซนเบิร์ก; The Crow: City of Angels; Highlander II: The Quickening; Bad Dreams และ Bulletproof

 

ซินดี้ อีแวนส์ (CINDY EVANS) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

ซินดี้ อีแวนส์สร้างชื่อด้วยการทำงานกับภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสการ์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง Memento เธอยังทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง Freedom Writers และ P.S. I Love You ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดย ริชาร์ด ลิงเกรสนีส และนำแสดงโดย ฮิลารี่ สแวงก์ เธอยังทำงานให้กับภาพยนตร์ของ นิกกี้ คาโร เรื่อง North Country ซึ่งนำแสดงโดย ชาร์ลิซ เธอรอนแ ละฟรานซิส แม็คดอร์แมนด์

สำหรับผู้กำกับ แคเธอรีน ฮาร์ดวิค อีแวนส์เคยออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์เรื่อง Red Riding Hood ซึ่งนำแสดงโดย อาแมนด้า ไซย์เฟร็ด รวมถึงภาพยนตร์ดราม่าของฮาร์ดวิค เรื่อง Thirteen และ Lords of Dogtown และในภาพยนตร์เรื่อง Laurel Canyon อีแวนส์ได้ร่วมงานกับ แม็คดอร์แมนด์ และฮาร์ดวิค อีกครั้ง

อีแวนส์ยังได้ร่วมงานกับ เธอรอน ในผลงานการกำกับเรื่องแรกของ กีลเลอร์โม่ อาร์เรียก้า เรื่อง The Burning Plain ผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายของอีแวนส์ ในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ โอลิเวอร์ สโตน เรื่อง Savages; ภาพยนตร์ของ เดวิด แฟรงเกล เรื่อง Marley & Me ซึ่งนำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน และโอเว่น วิลสันภาพยนตร์ของ ดั๊ก ไลแมน เรื่อง Fair Game ซึ่งนำแสดงโดย นาโอมี่ วัตต์ส และฌอน เพนน์ และภาพยนตร์ตลกโรแมนติค เรื่อง Along Came Polly ซึ่งนำแสดงโดย อนิสตัน และเบน สติลเลอร์

โจล แม็คนีลี่ย์ (JOEL MCNEELY) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ

โจล แม็คนีลี่ย์ คือผู้แต่งดนตรีและคอนดั๊กเตอร์ที่เคยได้รับรางวัลไพรม์ไทม์ เอ็มมี่ โดยเขามีผลงานทั้งจอเงินและจอแก้วมากกว่า 100 ชิ้น

เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับนับถือมากมายหลายคน อาทิเช่น เจมส์ คาเมรอน, จอห์น แลสซีเตอร์, เซธ แม็คฟาร์เลน และจอร์จ ลูคัส นอกจากจะแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง  A Million Ways to Die in the West แล้ว แม็คนีลี่ย์และแม็คฟาร์เลนยังร่วมกันแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ผลงานภาพยนตร์ที่แม็คนีลี่ย์แต่งดนตรีประกอบให้ ได้แก่ Secret of the Wings, The Tinker Bell Movie, Tinker Bell and the Lost Treasure, Tinker Bell and the Great Fairy Rescue, Mulan IIReturn to Never Land, Ghosts of the Abyss, I Know Who Killed MeUptown GirlsVirusThe AvengersAir Force OneWild America และ Terminal Velocity

 

—a million ways to die in the west—