เสียงดนตรีเป็นยาวิเศษที่ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแรงได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แถมยังต่อยอดพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องการฟัง การได้ยิน ประสาทสัมผัสต่างๆ การฝึกคิดจินตนาการ และ ความจำ จะเห็นได้จากบางครั้งมีการนำเนื้อหาวิชาการมาใส่ท่วงทำนองดนตรีต่างๆ เพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้น ดนตรีจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาลูกน้อยให้เติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อดีและข้อเสียถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญอาจจะกลายเป็นโทษสำหรับเด็กได้ อย่างการเลือกเครื่องดนตรีที่ไม่เหมาะสมกับวัย หรือ ฝึกอย่างไม่ถูกต้องอาจส่งผลเสียกับร่างกายเด็กได้
อาจารย์ ดร.สุวรรณา วังโสภณ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสจากสถาบันดนตรี Yamaha Music School ผู้นำหลักสูตรจาก Yamaha Music Foundation ประเทศญี่ปุ่น ผู้คิดค้นหลักสูตรดนตรี สำหรับเด็กเล็ก JMC (Junior Music Course) คลาสเรียนดนตรีแบบองค์รวมและบูรณาการเพื่อฝึกพัฒนาการเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 3 – 6 ขวบ โดยใช้การเล่นดนตรีเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กในแต่ล่ะวัย กล่าวว่า ความสุนทรีย์ของศิลปะด้านดนตรีนอกจากจะสร้างความสุขทางใจแล้ว ประโยชน์ของการเรียนดนตรีที่ถูกต้องยังช่วยฝึกพัฒนาการของการเจริญเติบโตให้มนุษย์ได้ตั้งแต่วัยเด็ก
“หลายคนอาจเคยได้ยินว่าเสียงดนตรีมีประโยชน์ แต่เชื่อว่าน้อยคนนักจะรู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร จึงไม่สามารถดึงประโยชน์จากดนตรีออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันอาจฝึกฝนผิดจนเกิดอันตรายได้ด้วย ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ประโยชน์ของดนตรีและวิธีฝึกฝนที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการปลูกฝังดนตรีให้เด็ก เพื่อช่วยฝึกพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ”
เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ก็สามารถเปิดเพลงให้ลูกน้อยฟังได้ ซึ่งมีการวิจัยพบว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ฟังเพลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคลอดทารกออกมา ทารกจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและไอคิวสูงกว่าทารกที่ไม่ได้ฟังเพลง อาจเป็นเพลงที่เปิดให้ฟัง หรือ คุณแม่จะใช้วิธีร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกฟังแทนก็ได้ ซึ่งมีผลวิจัยว่าหากคุณแม่ร้องเพลงกล่อมเด็กขณะที่ยังตั้งครรภ์อยู่ทุกๆ วัน เมื่อคลอดออกมาหากลูกน้อยร้องไห้หรืองอแงเมื่อไหร่ ให้เปิดเพลงหรือร้องเพลงที่แม่เคยร้องให้ฟังตั้งแต่สมัยตั้งครรภ์ ทารกจะนิ่งสงบลงและสนใจในเสียงเพลงกล่อมเด็กอย่างน่าอัศจรรย์
จากนั้นในช่วงอายุ 3 ขวบ ดนตรีจะช่วยฝึกเรื่องทักษะการฟังให้กับเด็ก โดยการเปิดเพลง หรือ ร้องเพลงให้เด็กฟัง ฝึกเรื่องการได้ยิน เพื่อเช็คว่า เด็กสามารถได้ยินตามปกติหรือไม่ ซึ่งจะทดสอบจากการตอบสนอง โดยให้เด็กเปล่งเสียงกลับถ้าถูกต้องตรง คีย์ เมโลดี้ และ ริทึ่ม ที่ครู หรือ พ่อแม่ ร้องเพลงออกไปร้องตามสิ่งที่ได้ยิน ตาม คีย์ คำร้อง หรือซีดีที่เปิด เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่เด็กกำลังเลียนแบบผู้ใหญ่ ถ้าเด็กตอบสนองหรือทำตามกลับมาทันที แสดงว่าทักษะเรื่องการฟังอยู่ในขั้นปกติ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะ การออกเสียง เปล่งเสียง พูด ที่ถูกต้อง ซึ่งการฟังเสียงดนตรีที่มีเมโลดี้จะดีกว่าการฟัง
การพูดธรรมดา เพราะจะสามารถฝึกเรื่องประสาทของเด็ก ทำให้เด็กคิดตามไปด้วย แต่ถ้าฟังแล้วไม่มีการตอบสนอง สะท้อนให้เห็นว่า เด็กอาจมีปัญหาเรื่องการฟัง หรือ เรื่องสมาธิ ซึ่งหากมีการฝึกที่ถูกต้องและฝึกเป็นประจำ ดนตรีจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ในช่วง 4 ขวบ จะเน้นย้ำการฝึกทักษะ ฟัง ร้อง และ เพิ่มเรื่องทักษะการเล่น โดยเริ่มฝึกกับอิเล็กโทน เพราะสามารถทำเสียงเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง เช่น ฟรุ๊ต บาสซูน โอโบ ไวโอลิน เป็นต้น จะฝึกให้เด็ก แยก ประสาทการฟังที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย และ ฝึกการเล่นดนตรี ควรเริ่มจากเครื่องดนตรี ประเภทอิเล็กโทน เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่ยังไม่ต้องออกแรงนิ้ว และ ข้อมือ มาก เหมือนเปียโน จึงเหมาะกับกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กที่ยังไม่แข็งแรงมาก ขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกประสาทสมอง ว่าสิ่งที่คิดจะสัมพันธ์กับนิ้วแต่ละนิ้วที่กดอิเล็กโทนออกมาหรือไม่ โดยการฝึกในขั้นตอนนี้จะสามารถทำให้รู้ว่ากล้ามเนื้อนิ้วของเด็กแต่ละนิ้วแข็งแรง หรือ มีปัญหา หรือ ไม่ ถ้ามีปัญหานิ้วไหนไม่แข็งแรง เช่น ขยับไม่ได้ตามปกติ การเล่นดนตรีก็สามารถช่วยรักษาเหมือนเป็นการออกกำลังกายหรือกายภาพบำบัดเป็นส่วนๆ ด้วย ซึ่งสำคัญมากเพราะมีความต่อเนื่องถึงเรื่องการฝึกเขียนหนังสือของเด็กด้วย ช่วง 5 ขวบ ช่วงนี้จะเพิ่มทักษะการอ่าน โดยเป็นการฝึกอ่านโน้ตเพลง สัญลักษณ์ทางดนตรี เช่น กุญแจฟา กุญแจซอล เป็นต้น มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการด้าน สายตา ความคิด และ ความจำ
6 ขวบ ฝึกทักษะการเขียน เริ่มจากเขียนตัวโน้ตจากการฟัง ในขั้นตอนนี้ จะเริ่มฝึกให้รู้จัก เมโลดี้ ทำนอง และ จังหวะ จนสามารถแต่งเพลงได้ เรียกว่าเป็นการฝึกเรื่องจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันยังทำให้เด็กรู้จักจับจังหวะดนตรีได้ ซึ่งเป็นการฝึกคิดด้านการคำนวนโดยอันโนมัติ เพราะต้องใช้วิชาคณิตศาสตร์มาคำนวณในการคิดห้องดนตรีด้วย จึงไม่แปลกใจที่จะเห็น หมอ และ วิศวะกร จำนวนไม่น้อยเล่นดนตรีเก่ง
ทั้งนี้ นอกจากเด็กปกติ ดนตรียังถูกนำมาใช้กับการฝึกทักษะของเด็กที่ไม่ปกติ เช่น เด็กไฮเปอร์ ที่มีสมาธิสั้น ให้รับรู้และมีสมาธิมากขึ้นได้ด้วย โดยฝึกแบบเดียวกับเด็กปกติทั่วไป แต่อาจต้องย้ำและทำซ้ำหลายๆ ครั้ง เช่น เด็กไฮเปอร์สมาธิสั้น จะมีช่วงเวลาที่มีสมาธิเพียง 3 – 5 นาที ใน 1 – 3 ชั่วโมง ก็ต้องรอจังหวะช่วงนั้นและรีบสอนและย้ำซ้ำๆ ในช่วงนั้น ให้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป 10 – 20 รอบ จากนั้น สมาธิของเค้าก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 3 นาที เพิ่มเป็น 5 นาที เป็น 10 นาที และ อาจเป็นปกติได้ในที่สุด ซึ่งมีตัวอย่างการพัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็กไฮเปอร์จากการฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ โดยใช้ดนตรีบำบัดมาแล้วทั่วโลก
ส่วนเรื่องการ เลือกเครื่องดนตรีให้เด็กเล็ก อย่างเหมาะสมกับวัย และพัฒนาการ ก่อน 2-3 ขวบ จะเป็นเครื่องดนตรีประเภทจับ เขย่า เคาะ ตี เนื่องจากกล้ามเนื้อ นิ้วมือยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ การหยิบของเด็กจะเป็นในลักษณะของการกำ มีวิจัยมาแล้วว่า เด็กที่ได้เล่นเพอร์คัสชั่นตั้งแต่เล็กๆ จะมีพัฒนาการทางด้านมิติสัมพันธ์ ตรรกะ ความเข้าใจ ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยได้สัมผัสเครื่องดนตรีเหล่านี้ จากนั้น ในช่วง 4 – 5 ขวบ ให้เริ่มเล่นเครื่องดนตรีประเภทอิเล็กโทนที่ไม่ต้องออกแรงเล่นมากนัก เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กยังอ่อน การให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีที่ต้องออกแรงเกินกำลังอาจทำให้เด็กต้องเกร็ง และ กล้ามเนื้อมัดเล็กอาจฉีกขาด หรือ ถูกทำลายได้ และในช่วง 6 – 7 ขวบ ค่อยเริ่มขยับมาเป็นการเล่น เปียโนเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้สามารถต่อยอดไปสู่พื้นฐานการเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ในอนาคตได้ จากนั้น 8 – 16 ขวบ ก็สามารถเริ่มเล่นเครื่องดนตรีทุกประเภทตามที่เด็กชอบได้ ไม่ว่าจะเป็น กีต้าร์ เปียโน ไวโอลิน ฯลฯ เพราะกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ กล้ามเนื้อมัดเล็ก แข็งแรง สมบูรณ์มากพอแล้ว